วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

สังคายนา

สังคายนา
       สังคายนา “การสวดพร้อมกัน”, การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว;
       สังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้:
       
สังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ที่เมื่อทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใหม่ๆได้แสดงความยินดีว่า เมื่อสิ้นพระศาสดาเสียแล้วจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีคนคอยตำหนิ ติเตียน ห้ามปราม,  จึงปรารภที่จะทำให้ธรรมและพระศาสนารุ่งเรืองอยู่สืบต่อไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
           โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย กล่าวคือ ภิกษุพวกหนึ่งชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ละเมิดธรรมวินัย อันเป็นต้นเหตุแห่งการสังคายนาครั้งที่ ๒  โดยไปจัดของนอกธรรมนอกวินัยว่า เป็นของดี ว่าถูกต้อง อันเป็นไปในทางเพื่อลาภ เพื่อความสะดวกสบาย ฯ.  อันทำให้พระศาสนาเสื่อม มัวหมอง, พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ ๑๐๐
           โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์) และมีศิลาจารึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบางส่วนอยู่จนถึงปัจจุบัน
           โดยพระเจ้าอโศก หรือ ศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
           โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี)
           โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยเป็นศาสนูปถัมก์;
           บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น
       (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)

       ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาตามลำดับ ตามที่บันทึกไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ (รจนาเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ในรัชกาลที่ ๑ ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ คือ
       สังคายนาครั้งที่  ๑-๒-๓  ทำในประเทศอินเดีย,
       สังคายนาครั้งที่  ๔-๕  ทำในประเทศลังกา ดังกล่าวแล้วข้างต้น  
       แล้วยังมีการสังคายนาที่ยอมรับกันในประเทศไทยต่อมาอีกดังนี้

       สังคายนาครั้งที่  ๖ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสาจารย์(พระพุทธโฆษาจารย์ ก็เขียนกัน) ชาวอินเดีย ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม การสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระอรรถกถา  แต่ทางลังกาเองไม่นับเป็นการสังคายนา        สังคายนาครั้งที่  ๗ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗  พระกัสสปเถระ เป็นประธาน ได้รจนาและชำระคัมภีร์ฎีกาต่างๆ ร่วมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลี กล่าวคือแต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๖ คำอธิบายอรรถกถานี้ว่าตามสำนวนนักศึกษาก็คือ คัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎก เรียกว่าบาลี คำอธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า อรรถกถา คำอธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา, การทำสังคายนาครั้งนี้ เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก  ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา
        หลังจากนั้น ก็มีการสังคายนาเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก ๒ ครั้ง
        สังคายนาครั้งที่  ๘ ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก ในวัดโพธาราม เป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จสังคายนา ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย
        
สังคายนาครั้งที่  ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน  สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย
        อย่างไรก็ตาม ข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง ประวัติการสังคายนา ๙ ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้  ภิกษุชินานันทะ ศาสตราจารย์ภาษาบาลีและพุทธศาสตร์ แห่งสถาบันภาษาบาลีที่นาลันทาในประเทศอิเดียได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ ๒๕๐๐ ปี แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในอินเดียด้วย
        การนับจำนวนการสังคายนาในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างและการยอมรับต่างกันไป ในแต่ละประเทศ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น