วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศาสนาคริสต์

ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์

ประวัติความเป็นมาของศาสนาและผู้ก่อตั้งศาสนา
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และเผยแพร่อย่างรุ่งโรจน์ในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ของศาสนามีความยาวนานสืบทอดมาแต่ศาสนายิว แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากศาสนายิวในช่วงของการเผยแพร่ศาสนา คือ ในสมัยที่พระเยซูออกสั่งสอนประชาชน อย่างไรก็ตามศาสนาคริสต์ยังคงยืนหยัดต่อสู่กระแสต้านของสังคมตะวันตกในสมัยนั้นมาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มีจิตใจศรัทธาพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความ เสียสละ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้พวกตะวันตกในสมัยต่อมาได้เข้าสู่กระแสศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์กับศาสนายิวอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งสองศาสนานี้มีลักษณะเป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดมรรคาแห่งชีวิตที่ทุกคนจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง บุคคลในประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนานี้ อาทิเช่น อับราฮัม (Abraham) โยเซฟ (Joseph) โมเสส (Moses) และกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) ฯลฯ ล้วนเป็นศาสดาที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดให้เป็นไปตามแผนที่พระองค์ได้วางไว้เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ให้ถึงความรอด (Salvation) คัมภีร์ไบเบิลทั้งสองภาค พันธสัญญาจึงเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนา
ประวัติศาสตร์ศาสนายูดายของพวกยิว ทำให้เราเห็นว่า พวกเขามีความผูกพันกับ พระเจ้ามาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองเป็นชาติที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พระองค์ได้สัญญากับพวกเขา ที่จะให้ดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม พวกเขาจึงเดินทางเร่ร่อนเพื่อจะหาดินแดนที่พระเจ้าได้สัญญาไว้นี้ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานในการเดินทางของพวกยิว พวกเขาต้องประสพกับความทุกข์ยาก การกดขี่ และภัยจากสงครามของชนชาติ มหาอำนาจ ทำให้พวกเขาต่างรอคอยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าจะส่งมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์ และเป็นผู้ที่จะนำสันติสุขที่แท้จริงมาสู่พวกเขา
ศาสดาประกาศกหลายท่านได้ทำนายเกี่ยวกับการมาของ พระเมสสิยาห์ ยิ่งทำให้ชาวยิวมีความหวังมากขึ้น แม้ในปัจจุบันนี้ชาวยิวในศาสนายูดายยังคง รอคอยอยู่ แต่สำหรับชาวคริสต์พระเมสสิยาห์ คือ พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) บังเกิดขึ้นมาในตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อเบธเลเฮม(Bethlehem)ในแคว้นยูดาห์ ตรงกับปีพุทธศักราช 543วันที่บังเกิดขึ้นไม่มีการบันทึกแน่นอน แต่ศาสนจักรได้กำหนดเอาวันที่ 25 ธันวาคม ของ(คาทอลิก) ของออร์โธด็อกซ์ กำนดเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเริ่มคริสตศักราชที่ 1 มารดามีนามว่า มารีอา (Maria) ชาวคริสต์เชื่อกันว่า นางมารีอานั้นตั้งครรภ์ไม่เหมือนสตรีอื่น เพราะเป็นการตั้งครรภ์โดยอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นพระเยซูจึงเป็นบุตรของพระเจ้า ส่วนโยเซฟ (Joseph) นั้นเป็น บิดาเลี้ยงที่มีสายเลือดสืบมาแต่กษัตริย์ดาวิด
พระเยซูในวัยเด็กนั้นมีจิตใจที่ใฝ่ในธรรม มีความชอบใจที่จะพูดถึงเรื่องธรรมกับ นักศาสนา ครั้นมีอายุได้ 30 ปี จึงรับบัพติศมา (Baptism) หรือการรับศีลล้างบาปจากยอห์น (John) ซึ่งเป็น ศาสดานักบุญในสมัยนั้น การรับศีลล้างบาปนี้กระทำที่แม่น้ำจอร์แดน ต่อมาพิธีนี้ได้กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ของชาวคริสต์ทุกคนที่จะต้องกระทำเพื่อประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน
หลังจากนั้นพระเยซูได้ออกเทศนาทั่วประเทศเพื่อประกาศ "ข่าวประเสริฐ" อันเป็นหนทางแห่งความรอดพ้นจากบาปไปสู่ชีวิตนิรันดร์ การประกาศศาสนาของพระเยซูนั้นไม่ใช่เพื่อล้มล้างศาสนายูดาย แต่เป็นการปฏิรูปศาสนาเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะนั้นได้มีผู้สนใจคำสอนของพระเยซู แต่ส่วนมากเป็นชนชั้นชาวบ้าน ที่ยากจนและชาวประมง พระเยซูได้คัดเลือกสาวกจากบุคคลเหล่านี้ได้ทั้งหมด 12 คน
สาวกทั้ง 12 คนนี้ ได้ติดตามรับใช้พระเยซูอย่างใกล้ชิดเพื่อเผยแพร่ศาสนา แต่กระนั้นก็ยังมีสาวกที่มีจิตใจดื้อดึง คือ ยูดาส อิสคาริออท (Judas Iscariot) ยอมทรยศเพื่อเห็นแก่เงินสินบน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคำสอนของพระเยซูมีส่วนทำให้ผู้นำศาสนา ยูดาย ขุนนางและคน ร่ำรวยบังเกิดความไม่พอใจ เพราะถูกตำหนิจึงโกรธแค้นคิดหาทางทำร้าย ด้วยการจับตัวไปขึ้นศาลของเจ้าเมืองชาวโรมัน โดยยูดายรับอาสาชี้ตัวพระเยซู เมื่อวันที่ผู้นำศาสนา ยูดายมาจับตัวพระเยซูไป สาวกทั้ง 11 คน ได้รีบหลบหนีทิ้งให้พระเยซูถูกจับไปลงโทษ โดยการตรึงกับไม้กางเขนพระเยซูถูกทรมานอย่างโหดร้ายทารุณจนสิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 33 ปี เท่านั้น จึงใช้เวลาประกาศศาสนาเพียง 3 ปี
ชาวคริสต์เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์ไป 3 วันแล้วได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยปรากฏแก่สาวกทั้ง 11 คน พวกเขาได้ทดสอบพระเยซูหลายครั้งจนมั่นใจว่าการฟื้นคืนชีพของพระเยซูนั้นไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแต่เป็นจริง ประกอบกับการเทศนาสั่งสอนย้ำให้สาวกทั้งหลายมีความเข้าใจในพระคัมภีร์ พวกเขาทั้ง 11 คน ได้กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม จึงร่วมกันอธิษฐานอย่างขะมักเขม้น นับแต่นั้นมาอัครสาวกทั้ง 11 คน และมัทธีอัส (Matthias) ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาในภายหลังรวมเป็น 12 คน ได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาอย่างมั่นคงทำให้มีผู้เข้ามาเป็นสาวกของพระเจ้ามากมาย แต่ในขณะเดียวกันการเผยแพร่ศาสนามีความลำบากเป็นอย่างมาก เพราะถูกต่อต้านอยู่เสมอจากพวกที่นับถือศาสนายูดาย
ในบรรดาสาวกของพระเยซูนักบุญเปโตร (Petro) ได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูให้เป็น หัวหน้าโดยนัยนี้ท่านจึงเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เป็นคนแรก นักบุญเปโตรได้เผยแพร่ศาสนาถึงกรุงโรม และได้เลือกกรุงโรมเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของศาสนจักร ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้นได้ถูกพวกทหารโรมันจับทรมานและประหารชีวิต
ความเจริญของศาสนาคริสต์ได้มีมายาวนาน จนกระทั่งถึงยุคล่าอาณานิคมของพวกจักรวรรดิ์นิยมชาวยุโรปและอเมริกัน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ศาสนาคริสต์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ ที่นักล่าอาณานิคมเหล่านี้ไปถึง ทำให้คริสต์ศาสนิกชน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทั้งในทวีปยุโรป อาฟริกา อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยได้มีนักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ โดยเดินทางมาพร้อมกับพวกทหารและพ่อค้าของประเทศเหล่านั้น ทำให้มีคนไทยนับถือศาสนาคริสต์กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ
คัมภีร์ของศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย ต่างให้ความเคารพในคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยถือว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหนทางแห่งความรอดจากทุกข์ทั้งปวง ความหมายของ "ไบเบิล" (Bible) คือ "หนังสือหลายเล่ม ชุดหนังสือ" เพราะเป็นความหมายที่ได้มาจากศัพท์ภาษาละตินและภาษากรีก คือ "บีบลีอา" (Biblia) ซึ่งเป็นพหูพจน์ของ "บีบลีออน" (Biblion) แต่ภาษาอังกฤษใช้ไบเบิล (Bible) และการที่เรียกว่าไบเบิลนี้ อาจเป็นเพราะคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยหนังสือหลายเล่มแล้วนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ในเล่มเดียวกันนี้ต่อมาแบ่งเป็นสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ซึ่งเขียนเป็นภาษาฮิบรูเกือบทั้งหมด มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาอารามาอิคและภาษากรีก ไบเบิลในภาคนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั้งสองศาสนานี้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมบูรณ์
1. คัมภีร์เก่า ( Old Testament ) หรือพันธสัญญาเดิมเป็นบันทึกเรื่องราวก่อนพระเยซูทรงประสูติ
2. คัมภีร์ใหม่ ( New Testament ) หรือพันธสัญญาใหม่เป็นบันทึกเรื่องราวหลังจากที่พระเยซูทรงประสูติ
ในภาคพันธสัญญาเดิมคริสเตียนออร์โธด็อกซ์นี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งหมด 46 เล่ม (แต่ในคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์หลายนิกายยอมรับเพียง 39 เล่ม) สำหรับภาคพันธสัญญาใหม่ (The new Testament) เป็นส่วนที่ยอมรับกันในหมู่ชาวคริสต์เท่านั้น ประกอบไปด้วยหนังสือหรือข้อเขียน27 เล่ม ซึ่งเป็นบันทึกประวัติและคำสอนของพระเยซูที่เรียกว่า "พระวรสาร" (The Gospels) มีจำนวน 4 เล่ม หนังสือกิจการอัครธรรมทูต 1 เล่ม จดหมายของบรรดาสาวกถึงคริสตชนในที่ต่าง ๆ 21 เล่ม และหนังสือวิวรณ์ 1 เล่ม
พระวรสาร 4 คัมภีร์ (The Gospels)
คัมภีร์ไบเบิลในส่วนที่เป็นพระวรสาร 4 คัมภีร์ เป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดและ มีผู้วิจารณ์กันมากที่สุด ซึ่งมีดังนี้คือ
1. พระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ.) มีจำนวน 28 บท
2. พระวรสารของนักบุญมาระโก (มก.) หรือมาร์ค (Mark) มีจำนวน 16 บท
3. พระวรสารของนักบุญลูกา (ลก.) หรือลูค (Luke) มีจำนวน 24 บท
4. พระวรสารของนักบุญยอห์น (ยน.) มีจำนวน 21 บท
เนื้อหาในพระวรสารเกี่ยวกับการเทศน์สอนสาวก เพื่อยืนยันสิ่งที่พวกเขาได้ประสบมาในขณะที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระเยซู และยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์บุตรของพระเจ้า ดังนั้นพระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับพระชนม์ชีพ และคำสอนของพระเยซูที่ไม่ธรรมดาเหมือนหนังสือประวัติบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่เป็นหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าจริง
พระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ เฉพาะของนักบุญมัทธิวที่เขียนด้วยภาษาอารามาอิค (Aramaic) ถูกยกย่องให้เป็นเล่มแรก ส่วนฉบับปัจจุบันที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลนั้น ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่ใช้ภาษาอารามาอิคแต่เป็นฉบับที่มีผู้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยนำเอาฉบับที่เป็นภาษากรีกมารวมกับฉบับของนักบุญมัทธิว และของนักบุญมาร์คหรือมาระโก รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏนาม ทั้งหมดนี้ถูกเรียบเรียงใหม่แต่ยังคงเรียกว่าพระวรสารของนักบุญมัทธิว ในพระวรสารเล่มนี้ได้กล่าวถึงกำเนิดของพระเยซู การเทศนาสั่งสอนโดยเฉพาะ "การเทศนาบนภูเขา" (Sermon on the Mount) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นแถลงการณ์ฉบับแรกของพระเยซูที่ประกาศโครงการปฏิรูปแนวทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเชื่อกันว่าเทศนาบทนี้เป็นตอนที่ไพเราะที่สุดในงานนิพนธ์ของนักบุญมัทธิว
สำหรับพระวรสารของนักบุญมาระโกหรือมาร์ค (Mark) นั้น มีเนื้อหาที่เน้นเฉพาะการเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูมากกว่าเน้นเสนอคำสอน
ส่วนพระวรสารฉบับของนักบุญลูกาหรือลุค (Luke) เป็นพระวรสารที่เน้นเฉพาะ ในเรื่องคำสอนของพระเยซู แต่มีการจัดลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามแบบพระวรสารของนักบุญมัทธิว
พระวรสารของนักบุญยอห์นนี้มีเนื้อหาเน้นหนักการประกาศว่า พระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ เพื่อมาไถ่บาปมนุษย์ด้วยการรับทรมานต่าง ๆ จนต่อมาได้กลับคืนชีพ และได้ส่งสาวกออกไปประกาศคำสอนพร้อมด้วยพระจิตของพระเจ้า และอำนาจในการยกบาป นักบุญยอห์นจึงเป็นพยานสำคัญที่ยืนยันความเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูเจ้า
หลักคำสอนของศาสนาคริสต์
บรรดาคำสอนทั้งหลายของพระเยซูนั้นเทศนาบนภูเขา (Sermon on the Mount) เป็นคำสอนที่จัดเป็นระบบมากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่มีพระประสงค์ปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นหลักจริยธรรมที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ปฏิบัติเพื่อความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งควรแก่การศึกษา โดยตัดมาบางข้อพอเป็นสังเขปและจัดเรียงหัวข้อตามที่ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ
1. ผู้เป็นสุข หรือบรมสุข 8 ประการ
คำสอนนี้มีลักษณะส่งเสริมการให้กำลังใจแก่คนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้นว่าตนเองจะรู้สึกว่ามีความบกพร่องไม่ดีพอ เป็นคนมีทุกข์โศกเศร้า เป็นคนจิตอ่อนโยน เป็นคนรักความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นคนจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้งข่มเหง บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องยินดียินร้ายต่อคำนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มเหงของผู้ข่มเหงเหล่านั้น
2. เกลือแห่งแผ่นดินโลก
คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไม่ หาคุณค่าใดไม่ได้เลย
3. ความสว่างของโลก
คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก
4.พระธรรมบัญญัติใหม่(The New Testament)
คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
5.ความโกรธ
คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
6. การล่วงประเวณี
คำสอนได้แสดงให้เห็นถึง การปฏิรูปทางความคิดแต่เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะการล่วงประเวณีที่เกิดขึ้นทางกายแต่พระเยซูได้สอนให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ โดยเตือนให้ทุกคนระวังการล่วงประเวณีทางใจ ซึ่งเกิดจากความพอใจในทางจิตวิญญาณ ดังนั้นถ้าร่างกายเราส่วนใดส่วนหนึ่งทำผิด ทำบาป ควรทำลายส่วนนั้นทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะไปก็ดีกว่าตัวเราจะต้องลงนรก
7. การหย่าร้าง
คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์อันยาวไกลของพระเยซูที่เห็นว่า แต่เดิมมาที่มีการอนุญาตให้บุคคลทั้งหลายหย่ากันอย่างง่าย เพียงแค่ทำหนังสือหย่ากันก็เป็นการเพียงพอแล้วนั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลไม่เกรงกลัวต่อบาป การแต่งงานก็จะเกิดขึ้นเพราะความพอใจแต่ขาดความรับผิดชอบและการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ชี้นำและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนที่สังคมจะเต็มไปด้วยคนทำชั่วเพราะความไม่รู้จริง
8. การสบถสาบาน
คำสอนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ให้บุคคลยึดถือสัจจะและความจริงใจอย่างมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคำพูดของตนเอง คนที่มีจิตใจมั่นคงในคำสอนของศาสนาย่อมไม่กล่าวคำเท็จ และมีความเชื่อมั่นในตนเองทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์
9. การตอบแทน
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีจิตใจอาฆาตแค้นต่อกัน คำสอนในตอนนี้ทำให้นึกถึงการละอัตตาในพุทธศาสนา ตราบใดที่คนเรายังมีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นและพระเจ้าได้
10. รักศัตรู
คำสอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูผู้ที่คิดร้าย บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะสามารถต้านทานกิเลสในจิตใจได้
11. การทำทาน
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องการให้บุคคลทำดีจนเคยชินเป็นนิสัย มากกว่าที่จะทำบุญเพื่อหวังบำเหน็จรางวัล เพราะความดีที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
12. การอธิษฐาน
คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์อธิษฐานด้วยความเคารพอย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่อวดตัวว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ผู้ปฏิบัติต่อศาสนาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ
13. การถืออดอาหาร
คำสอนนี้ สะท้อนให้บุคคลปฏิบัติทางศาสนาด้วยความเชื่อมั่น การถืออดอาหารเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่ทุกคนควรเต็มใจทำ แต่ไม่ใช่จำใจทำ เพราะนั่นไม่ใช่ความดีที่แท้จริง 14. ทรัพย์สมบัติในสวรรค์ คำสอนนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการทำจิตให้หมดความยึดถือในทรัพย์สมบัติ ภายนอกกาย แต่ความดียิ่งทำมากเท่าใดสวรรค์ย่อมเป็นที่ไปสำหรับบุคคลนั้น
15. ประทีปของร่างกาย
คำสอนนี้ทำให้เราคิดได้ว่าความสว่างในจิตใจนั้นเกิดจากมุมมองอันถูกต้องถ้าดวงตา สามารถหยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ การดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปตามปกติ
16. พระเจ้าและเงินทอง
คำสอนนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า คนเราไม่สามารถยึดถือเงินตราหรือพระเจ้าเป็น ที่พึ่งอาศัย โดยพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความรักและสัตย์ซื่ออย่างหมดหัวใจ และจะต้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะนายทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
17. ความกระวนกระวาย
คำสอนนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์รักและศรัทธาในพระเจ้าก็ควรจะวางใจเชื่อ พระองค์ ให้คำนึงถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น และทำดีให้ถึงที่สุดของความดีนั้น
18. การกล่าวโทษผู้อื่น
คำสอนนี้ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล อย่างนั้น" เรากล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร และเราก็จะถูกกล่าวโทษเช่นนั้นบ้าง คนส่วนมากไม่ใคร่มอง ตนเอง แต่มักเพ่งโทษของผู้อื่น จึงมองไม่เห็นความชั่วของตนทำให้เป็นผู้ที่โลกทัศน์มืดมัวและปัญญามืดบอด
19. ขอ หา เคาะ
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ย่อมมีน้ำพระทัยเมตตาแก่ผู้ทุกข์ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือพระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้ง พระองค์ดีต่อพวกเขาอย่างไร พวกเขาก็ควรที่จะดำเนินตามรอยพระองค์ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติ เช่นนั้นต่อพวกเขา
20. ประตูคับแคบ
คำสอนนี้เป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทคนส่วนมากชอบความง่าย ความสะดวกสบาย จึงพลาดต่อการทำผิดทำชั่ว จิตที่ชอบความสะดวกสบาย จึงมีคนน้อยมากที่จะยอมประพฤติปฏิบัติความดีงามและยอมต้านกระแสความต้องการของโลก คนส่วนมากเลือกประตูกว้างซึ่งเป็นทางที่สะดวกกว่าประตูที่คับแคบเช่นเดียวกับคนส่วนมากเลือกที่จะทำชั่วมากกว่าที่จะทำความดีเพราะการทำดีนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง
21. รู้จักต้นไม้ด้วยผลของมัน
คำสอนนี้เป็นการเตือนใจบุคคลให้รู้จักเฟ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ศรัทธา เพียงเพราะเห็นว่ามีท่าทีน่าเลื่อมใส แต่ให้ดูผลงานของบุคคลที่บอกถึงคุณค่าที่แท้จริงของเขา
22. เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลย
คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เอ่ยเรียกพระเจ้าบ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ เพราะปากที่เคยพร่ำถึงอยู่เสมอแต่ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง และเป็นคนที่พระเจ้าไม่เคยรู้จัก
23. รากฐานสองชนิด
คำสอนนี้เป็นตอนสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้บุคคลทั้งหลาย นำคำสอนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไปปฏิบัติซึ่งจะเกิดผลดีแก่เขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท หลักคำสอนสำคัญอื่น ๆ
1. บาปกำเนิด คือ บาปที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด
2. ตรีเอกภาพ คือ พระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียว แต่มี 3 สถานะ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต
3. ความรัก เป็นกฎทองคำของศาสนาคริสต์ กล่าวว่า "จงรักพระเจ้าสุดใจ สุดความคิด
สุดกำลัง" และ "จงรักเพื่อนบ้านเหมือนเจ้ารักตัวเอง"
4. อาณาจักรพระเจ้า คือ สภาวะจิตใจที่บริสุทธิ์
พระเจ้าผู้เป็นอันติมสัจจ์
ศาสนาคริสต์มีพระเจ้าองค์เดียวกับพระเจ้าของศาสนายิว คือ พระยะโฮวา พระผู้ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ทรงเป็นจิตบริสุทธิ์ ไม่มีรูปร่าง มีอยู่นิรันดร จึงไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ทรงสถิตอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ทรงสามารถทุกอย่าง ไม่มีใครสร้างพระองค์ แต่พระองค์เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลพิภพนี้ ชาวคริสต์เชื่อกันว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปตามแผนการของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ปรารถนาจะช่วยมนุษย์ให้พ้นจากบาปกำเนิดที่สืบกันมาแต่บรรพบุรุษคู่แรก คือ อาดัมและอีวา พระองค์จึงส่งพระบุตรมาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทางแห่งความรอด
พระเจ้าผู้เป็นพระบิดาและพระเยซูซึ่งเป็นพระบุตร จึงเป็นหนึ่งเดียวกันคือความสัมพันธ์แห่งความรัก เมื่อพระเยซูได้จากสาวกไปแล้ว โดยทรงไปสถิตอยู่กับพระบิดาในอาณาจักรแห่งพระเจ้า พระองค์ก็ยังทรงเมตตาต่อมนุษย์ พระเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาและพระเยซูผู้ทรงเป็นบุตร และพระจิตแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้เสด็จมาสถิตยังโลกเพื่อมนุษย์จะได้รู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าได้ทรงโปรดประทานมาให้แก่พวกเขา
เราอาจกล่าวได้ว่าสิ่งสูงสุดของชาวคริสต์ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ซึ่งเรียกว่า "ตรีเอกภาพ" (Trinity) คือ สามภาคของพระเจ้าที่เป็นหนึ่งเดียวกัน การที่จะเข้าถึงสิ่งสูงสุดนี้จะต้องมีความรักและศรัทธาในพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว และรักเพื่อนมนุษย์ให้เหมือนกับรักตนเอง ผู้ใดที่สามารถปฏิบัติตามได้เช่นนี้แล้ว เขาจะได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในแผ่นดินสวรรค์ ผู้ใดที่ได้อยู่ที่แห่งนี้จะมีชีวิตนิรันดรซึ่งจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อตายแล้ว บุคคลที่สามารถสละความสุขทางโลก และสละสมบัติทางโลกได้เท่านั้น จึงสามารถเข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้าได้เพราะคนเราจะมีนาย 2 คนไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะเลือกพระเจ้าก็ต้องสละสมบัติทางโลก และถ้าจะเลือกสมบัติทางโลกก็ต้องสละพระเจ้า ผู้ฝ่าฝืนพระบัญญัติจะถูกตัดสินให้ลงนรก ถูกไฟเผาผลาญได้รับความทุกข์ทรมานตลอดไป
ศาสนาคริสต์ได้กล่าวถึง "วันพิพากษาโลก" (The Last of Judgement) เพื่อให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาคริสต์ที่พระบุตรจะเสด็จกลับมาโลกนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิพากษามนุษย์ในมาระโกบทที่ 13 ข้อ 24-27 ของหนังสือพระคริสตธรรมคัมภีร์ (พระคริสตธรรมคัมภีร์. 1993 : 108) ได้กล่าวถึง วันสิ้นพิภพและการเสด็จมาพิพากษาโลกของพระเยซูคริสต์เจ้า ความว่า
"............ภายหลังเมื่อคราวลำบากนั้นพ้นไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะมืดไป และดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงดวงดาวทั้งปวงจะตกจากฟ้า และบรรดาสิ่งซึ่งมีอำนาจในท้องฟ้าจะสะเทือนสะท้าน เมื่อนั้นเขาจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาในเมฆ ทรงฤทธานุภาพ และพระสิริเป็นอันมาก เมื่อนั้นพระองค์จะทรงใช้เหล่าทูตสวรรค์ทั้งสี่ทิศนั้น ตั้งแต่ที่สุดปลายแผ่นดินโลกถึงที่สุดของฟ้า................"
เราอาจกล่าวได้ว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์การที่พระเยซูคริสต์เจ้าจะเสด็จกลับมาพิพากษาโลกอีกครั้งหนึ่งในวันสิ้นโลก ผู้ชอบธรรมเท่านั้น ที่จะถูกตัดสินให้ขึ้นสวรรค์ตลอดชั่วนิรันดร ส่วนคนอธรรมจะถูกปรับโทษให้ลงนรกนิรันดร
________________________________________
กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์
ในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great) พระองค์ได้ตั้ง ราชธานีใหม่ในภาคตะวันออก แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน และได้พระราชทานนามราชธานีนี้ว่า "คอนสแตนติโนเปิล" (Constantinople) หรือโรมันตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไบแซนทีน (Byzantine) อาณาจักรนี้มีความอิสระแยกออกจากโรมันตะวันตก ซึ่งมีโรม (Rome) เป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อนานวันอาณาจักรโรมันตะวันออกมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระในทุกด้าน จึงปกครองเป็นเอกเทศรวมไปถึงการปกครองทางศาสนา มีความเป็นอิสระจากกรุงโรม ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระสันตะปาปา จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกาย กล่าวคืออาณาจักรโรมันตะวันตกนั้นได้รับอิทธิพลคำสอนของปีเตอร์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนผสมกลมกลืนกับบทบาททางสังคมและการเมือง ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออกได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมของเอเชีย จากจุดนี้เองทำให้ศาสนาคริสต์ต้องแยกออกเป็น 2 นิกาย คือ
1. นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) มีศูนย์กลางอำนาจในแต่ละประเทศโดยเฉพาะ แต่อยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของหลักธรรมบัญญัติแห่งคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์และให้ความสำคัญต่อประมุขนิกายซึ่งอยู่ในแต่ละประเทศต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยเรียกชื่อประมุขเหมือนกันหมดว่า ปาตริอาร์ค (Patriarch) และมี อาร์คบิชอบ(Archbishop) และบิชอป (Bishop)เป็นหัวหน้าสงฆ์ปกครองสังฆมณฑลแต่ละจังหวัดตามลำดับ
- ใช้คำสอนที่มีมาแต่ดั้งเดิมของคริสต์จักรแห่พระเยซูที่เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการบิดเบือนใดๆ
- เป็นนิกายเดียวที่เชื่อเรื่องนักบุญ และเชื่อในชีวิตหลังความตายอันเป็นนิรันดร
- รูปเคารพ คือ ไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึงอยู่ คือ ภาพ 2 มิติ
- รูปเคารพของพระเยซู พระแม่มารีย์ และเหล่านักบุญ (Icon) คือ ภาพ 2 มิติ
- การประกอบพิธีกรรมตามวันลำรึกสำคัญต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
2. นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) มีศูนย์กลางอำนาจอยู่พระสันตะปาปาที่สำนักวาติกัน (Vatican) กรุงโรม ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาทางศาสนา ประมุขสูงสุดคือพระสันตะปาปา
- เน้นว่าต้องเป็นผู้สืบทอดคำสอนจากพระเยซู
- ประมุข คือ สันตะปาปา และมีพระที่เรียกว่า บาทหลวง
- เป็นนิกายที่เชื่อเรื่องนักบุญ และแดนชำระวิญญาณผู้ตาย
- รูปเคารพ คือ ไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึงอยู่
ต่อมาในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้แตกแยกออกไปอีก โดยบาทหลวง ชาวเยอรมันชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ท่านเกิดความไม่พอใจต่อสภาพการปกครองของสำนักวาติกัน จึงทำหนังสือถึงพระสังฆราชผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับได้รับหมายขับออกจากพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1521 มาร์ติน ลูเธอร์ จึงแยกตนเองออกมาตั้งนิกายใหม่ คือ โปรเตสแตนต์ (Protestant)
3. นิกายโปรเตสแตนท์ เช่น ลัทธิลูเธอร์น และแอกลิแคน
- ไม่พอใจการกระทำคำสอนบางประการของสันตะปาปา
- เน้นคัมภีร์ ไม่มีนักบวช
- รับศีลศักดิ์สิทธิ์เพียง 2 ศีล คือ ศีลล้างบาป และศีลมหาสนิท
________________________________________
นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox)
คำว่า "ออร์โธด็อกซ์" นี้แปลว่า "ความเป็นดั้งเดิม" ได้แก่ ปฏิปทาของคนทั่วไป คริสตศาสนิกชนออร์โธด็อกซ์ จึงไม่ถือว่าตนเองคือ นิกายหนึ่งของคริสตศาสนาแต่เป็นคริสตศาสนาที่สืบเนื่องมาจากต้นกำเนิด และถือว่าพวกตนเป็นผู้อนุรักษ์คำสั่งสอนที่ได้รับมาจากพระเยซูอย่างซื่อสัตย์ อีกทั้งเป็นผู้ปกป้องพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด
นิกายออร์โธด็อกซ์ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ท่านอัครฑูตเปโตร และเปาโล ได้รับการสถาปนาจากพระเยซูให้เป็นผู้ดูแลพระศาสนจักร เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นรากฐานแห่งคริสตศาสนจักรท่านแรกที่ทุกคนต้องยอมรับนับถือและมีศรัทธาเชื่อฟังอย่างเดียวในฐานะที่เป็น "ผู้ดูแลฝูงแกะ" ของพระเจ้า ความคิดแบบนี้ได้สืบทอดกันต่อมารวมไปถึงสาวกทั้ง 12ท่าน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ พระอัครสังฆราชจึงมิได้อยู่ในฐานะนักบวชเท่านั้น แต่เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรที่ทุกคนต้องให้ความเคารพเชื่อถือ นิกายออร์โธด็อกซ์จึงเป็นนิกาย ที่มุ่งมั่นให้สัตบุรุษมีศรัทธา และปฏิบัติตามพระศาสนจักร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งสวรรค์ ที่จะสามารถนำประชาชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามภาระกิจ ที่พระเจ้าได้มอบไว้
ศีลศักดิ์สิทธิ์วิถีชีวิตของชาวคริสต์คริสต์เตียนโอโธด็อกซ์มีดังนี้
1. ศีลล้างบาป (Baptism)
ชาวคริสต์ทุกคนต้องผ่านพิธีรับศีลนี้ก่อน เพื่อแสดงว่าตนเองได้เข้ามาเป็นสมาชิกของศาสนจักรแล้ว จึงจะสามารถรับศีลอื่น ๆ ต่อไปได้อีก การรับศีลล้างบาปนี้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตแม้ว่าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น แต่ถ้ากลับมานับถือศาสนาคริสต์อีกก็ไม่ต้องรับศีลนี้ เพราะถือได้ว่าทำการล้างบาปแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวคริสต์เชื่อกันว่ามนุษย์มีบาปกำเนิดติดตัวมาตั้งแต่เกิดสืบมาแต่บรรพบุรุษซึ่งตามพระคัมภีร์เก่าว่ามาจากมนุษย์คู่แรก คือ อาดัมและอีฟ
พิธีกรรมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของศีลล้างบาป คือผู้ที่เชื่อในพระเจ้าเข้ารับการจุ่มตัวทั้งร่างกายลงไปในน้ำสามครั้ง ไปพร้อมๆกับการกล่าวนามพระไตรลักษณ์เจ้า คือ ในนามแห่งพระบิดา และพระบุตร และพระจิตอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอชำระจากบาปแต่ครั้งเริ่มแรก และจากบาปที่มีอยู่ทั้งหลายทั้งปวง และบาปที่เคยทำมาแต่ครั้งก่อน ก่อนที่จะเข้ารับศีลล้างบาป และเป็นการกำเนิดใหม่ในพระพรแห่งพรจิตเจ้า ที่ได้รับมาซึ่งชีวิตใหม่แห่งฝ่ายจิตวิญญาณ (การกำเนิดใหม่แห่งจิตวิญญาณ) และได้ทำการเข้าเป็นสมาชิกแห่งพระคริสตจักร ซึ่งได้มีส่วนในพระคุณาธิการแห่งราชอาณาจักรแห่งพระคริสต์เจ้า พิธีศีลล้างบาปนี้ได้ทำการสถาปนาขึ้นโดยพระเยซูคริสต์เจ้าของพวกเราเอง พระองค์เทรงกระทำให้พิธีศีลล้างบาปนี้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการใช้พระองค์เองเป็นตัวอย่างในการรับศีลล้างบาป จากท่านยอห์นผู้ให้ศีลล้างบาป หลังจากนั้น ก่อนที่พระองค์จะทรงเสด็จข้นสู่สรวงสวรรค์ พระองค์ได้ทรงสั่งแก่เหล่าสาวกของพระองค์ไว้ด้วยว่า “เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้พวกเขารับศีลล้างบาปในพระนามแห่งพระบิดา และพระบุตร และพระจิตอันศักดิ์สิทธ์” (มธ.28:19)
พิธีศีลล้างบาปนี้ จำเป็นสำหรับทุกๆคนที่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกแห่งคริสตจักรของพระคริสต์เจ้า ดังที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ที่ว่า “พระเยซูตรัสว่า เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำและพระวิญญาณผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” (ยน.3:5)สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับในพิธีศีลล้างบาปนั้นจะต้องมีความเชื่อในพระคริสต์เจ้า และมีความสำนึกในการกลับใจใหม่
ในคริสตศาสนจักรดั้งเดิมออร์โธด็อกซ์นั้น จะประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่เด็กที่ผู้ปกครอง และผู้ปกครองอุปถัมภ์ของเด็กมีความเชื่อในพระคริสต์เจ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองที่จำเป็นจะต้องมีผู้ปกครองรับอุปถัมภ์แห่งศีลล้างบาปในโบสถ์ ที่ไม่ใช่พ่อแม่ตัวจริง แต่อาจจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นญาติมิตรหรือคนรู้จัก เพื่อที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ และช่วยเหลือและเอาใจใส่ทางด้านความเชื่อและคำสอนที่ถูกต้องแห่งพระคริสต์เจ้า จนกว่าเด็กนั้นจะเติบโตเป็นชาวคริสต์เตียนที่ดีต่อไป ในภาระหน้าที่ของผู้ปกครองอุปถัมภ์แห่งศีลล้างบาปนี้ จะเป็นบาปอย่างยิ่งถ้าผู้ปกครองอุปถัมภ์นั้นปล่อยปะละเลย ในหน้าที่การอุปถัมภ์ทางศาสนาแก่บุตรอุปถัมภ์ของตน พระคุณาธิการแห่งพระพรที่ได้รับมาซึ่งความเชื่อของผู้อื่นนั้น มีปรากฏให้เห็นแก่เราในพระคัมภีร์ ที่พระคริสต์ได้ทรงรักษาคนเป็นง่อยให้หาย “เมื่อพระเยซูทรงเห็นความเชื่อของเขาทั้งหลาย พระองค์จึงทรงตรัสกับคนง่อยว่า ลูกเอ๋ยบาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” (มก.2:5)
บางนิกายมีความเห็นว่า ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่เด็กที่ยังไร้เดียงสา และได้มีการกล่าวหาต่อคริสตศาสนจักรดั้งเดิมออร์โธด็อกซ์ว่ามี การประกอบพิธีต่อเด็กที่ยังไร้เดียงสา แต่สาระหลักของการประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่เด็กนั้นกระทำขึ้นเพื่อ ที่ว่าในธรรมเนียมพิธีแห่งศีลล้างบาปของพันธสัญญาเดิมนั้นเด็กที่มีอายุแรกเกิดได้แปดวันต้องเข้าพิธีสุหนัต (การตัดหนังหุ้มปลายองคชาติสำหรับเด็กชายเท่านั้น) “ในพระองค์นั้น ท่านได้รับพิธีเข้าสุหนัตที่มือมนุษย์มิได้กระทำ โดยที่ท่านได้สละกายเนื้อหนังเสียในการเข้าสุหนัตแห่งพระคริสต์ และได้ถูกฝังไว้กับพระองค์ในพิธีศีลล้างบาปมาแล้ว และในพิธีนั้นท่านได้ฟื้นขึ้นมาจากความตายกับพระองค์ โดยเชื่อในการกระทำของพระองค์ผู้ได้ชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมา” (คส.2:11-12) และเหล่าพระสาวกของพระเยซูได้ทำการประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่ครอบครัวที่มีบุตรอย่างไร้ความสงสัย เด็กในวันนี้ ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า สามารถมีบาปอันเป็นที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พวกเขาได้รับศีลล้างบาปจากพิธีกรรมทางศาสนาแห่งพระคริสต์เจ้าที่หลังจากนั้นจะได้รับพระพรจากพระจิตเจ้าเพื่อชำระมลทินทั้งปวงของพวกเขา
พระเยซูคริสต์เจ้าเองได้ทรงตรัสไว้ว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆเข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าย่อมเป็นของคนเช่นเด็กเหล่านั้น (ลก.18:16) ดังเช่นที่พิธีกรรมของศีลล้างบาปนั้นคือการให้กำเนิดใหม่แก่จิตวิญญาณ ทุกคนเกิดมาแค่เพียงครั้งเดียว การรับศีลล้างบาปก็ควรจะมีแค่ครั้งเดียวเช่นกัน “มีกายเดียวและมีพระจิตเจ้าองค์เดียวเหมือนมีความหวังใจอันเดียว ที่เนื่องในการที่ทรงเรียกท่าน มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว และศีลล้างบาปเดียวเท่านั้น” (อฟซ. 4:4-5)
พิธีล้างบาปสืบเนื่องมาจากความเชื่อของพวกอิสราเอลนับตั้งแต่ยุคพันธสัญญาเดิมที่เชื่อกันว่าการชำระล้างด้วยน้ำเป็นเครื่องหมายของการชำระทางจิตใจ การทำบัพติศมาหรือการทำพิธีล้างบาปนี้ นักบุญจอห์น (John the Baptism) เคยทำให้กับพระเยซูที่แม่น้ำจอร์แดนและพระเยซูเคยมีคำสั่งให้ผู้ที่ข้าไปในแผ่นดินแห่งสวรรค์ของพระองค์ได้นั้นนั้นต้องรับศีลล้างบาปด้วยน้ำในนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต ชาวคริสต์นับแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันนี้จึงได้ถือปฏิบัติตามกันมา เพราะเชื่อว่าเป็นการชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป ยืนยันความเชื่อในพระคริสต์เจ้าผู้ทรงคืนพระชนม์
ผู้รับศีลล้างบาปอาจกระทำได้ตั้งแต่เริ่มเกิดใหม่โดยมีพ่ออุปถัมภ์หรือแม่อุปถัมภ์ร่วมรับในการประกอบพิธีและให้การสั่งสอนเกี่ยวกับพระคริสต์ศาสนาจนเติบโตเป็นคนดีของสังคม หรือกระทำตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ที่รับศีลทำด้วยความศรัทธาของตนอย่างแท้จริง ผู้ทำพิธี คือ คุณพ่ออธิการ (ภาษา ชาวบ้านเรียกคุณพ่อเจ้าวัดซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส) หรือผู้ที่คุณพ่ออธิการได้มอบหมาย แต่ในยามวิกฤตใกล้ตายก็โปรดศีลล้างบาปให้ได้ทั้งนั้น ผู้โปรดศีลล้างบาปจะต้องทำให้ถูกวิธีมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ
ผู้รับศีลล้างบาปแล้วตามปกติจะมีพ่อแม่อุปถัมภ์(ทูนหัว)ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเอง พ่อแม่ ทูนหัวนี้ คือ ผู้ประคองศีรษะผู้รับศีลล้างบาป(เด็กเล็ก)ขณะที่ผู้โปรดศีลล้างบาปจะเทน้ำลงบนศีรษะ ผู้ได้รับเกียรติเป็นพ่อแม่ทูนหัวนี้จะต้องดูแลลูกทูนหัวทางฝ่ายวิญญาณไปจนกระทั่งลูกทูนหัวสามารถช่วย ตนเองได้ และพ่อแม่ทูนหัวนี้จะแต่งงานกับลูกทูนหัวของตนไม่ได้เด็ดขาด การทำพิธีล้างบาปนี้อาจกระทำในวันคืนวันปาสกา หรือวันอาทิตย์ หรือวันที่เหมาะสม
2. พิธีกรรมแห่งศีลการเจิมน้ำมันอันศักดิ์สิทธิ์
พิธีกรรมของศีลการเจิมน้ำมันนั้น คือการส่งผ่านความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่เชื่อในพระคริสต์เจ้า ศีลเจิมนี้คือการมอบพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระจิตเจ้าเพื่อความสงบสุขทางด้านจิตวิญญาณแก่ชาวคริสต์เตียนทุกคน เกี่ยวกับการได้รับมาซึ่งพระพรแห่งพระจิตเจ้า องค์พระเยซูคริสต์เจ้าเองได้ทรงตรัสกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่วางใจในเราตามที่มีคำเขียนไว้แล้วว่า แม่น้ำที่มีน้ำธำรงชีวิต จะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น (คือ ออกมาจากจิตใจของคนผู้นั้น) สิ่งที่พระเยซูตรัสนั้นหมายถึงพระวิญญาณซึ่งผู้ที่วางใจในพระองค์จะได้รับ เหตุว่ายังไม่ได้ประทานพระวิญญาณให้เพราะพระเยซูยังมิได้ประสบเกียรติกิจของพระองค์” (ยน.7:38-39) ท่านอัครสาวกเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ซึ่งทรงตั้งเรากับท่านทั้งหลายไว้ในพระคริสต์และได้ทรงเจิมเราไว้นั้นก็คือพระเจ้า และพระองค์ได้ทรงประทับตราเราและประทานพระจิตศักดิ์สิทธิ์ไว้ในใจของเราเป็นมัดจำด้วย”(2คร.1:21-22)
พระพรแห่งพระจิตเจ้าจำเป็นสำหรับชาวคริสต์เตียนทุกๆคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์เจ้าพระบุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า และพิธีศีลเจิมพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์นี้เองที่มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นตราประทับแห่งกำลังทางด้านจิตวิญญาณสำหรับพวกเราทุกๆคน (และยังมีบุคคลคัดสรรพิเศษบางคน เช่น ผู้เผยพระวจนะ, อัครทูต, และกษัตริย์ ที่ได้รับพระพรศีลเจิมแห่งวิญญาณบริสุทธิ์อันสูงส่งแห่งพระผู้เป็นเจ้า) ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาแล้ว ที่พิธีศีลเจิมพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ที่กระทำกันของเหล่านักบุญและสาวกของพระเยซูคริสต์เจ้านั้นประกอบพิธีกันโดยการวางมือบนศีรษะของอีกคน “เมื่อพวกอัครทูตซึ่งอยู่ในกรุงเยรูซาเลมได้ยินว่าชาวสะมาเรียนได้รับพระวจนะของพระเจ้าแล้ว จึงให้เปโตรกับยอห์นไปหาเขา ครั้นเปโตรกับยอห์นไปถึงก็อธิฐานเผื่อเขา เพื่อให้เขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ยังไม่ได้เสด็จลงมาสถิตกับผู้ใด เป็นแต่เพียงการได้รับศีลล้างบาปในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าเท่านั้น เปโตรกับยอห์นจึงวางมือบนเขา แล้วเขาทั้งหลายก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กจ.8:14-17,19:2-6) แต่หลังจากสิ้นสุดศตวรรษที่หึ่งแล้วพิธีศีลเจิมพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เปลี่ยนมาประกอบพิธีกันโดยใช้น้ำมันเสกศักดิ์สิทธิ์เจิม แทนการวางมือบนศีรษะ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในหนังสือพระคัมภีร์พันธสัญญาฉบับเดิม สาเหตุเป็นเพราะว่าเหล่าสาวกของพระคริสต์ไม่มีเวลาพอที่จะประกอบพิธีวางมือแห่งการส่งผ่านประวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ได้ทันกาล น้ำมันเสกศักดิ์สิทธิ์นี้ เป็นน้ำมันบริสุทธิ์คัดสรรชนิดพิเศษ ที่นำมาประกอบพิธีเสกขอพรจากพระจิตเจ้า ที่กระทำพิธีโดยหัวหน้าสงฆ์ เพื่อที่หลังจากนี้จะสามารถนำไปประกอบพิธีศีลเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์แก่ชาวคริสต์ศาสนิกชนได้ต่อไป
ในช่วงเริ่มแรกนั้นพิธีเสกน้ำมันขอพระพรจากพระจิตเจ้าจะประกอบพิธีโดยเหล่าพระสาวกและผู้รับช่วงต่อจากพระสาวก หรือพระสังฆราช และปัจจุบันนี้พิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้จะสามารถกระทำได้โดยสังฆราชเท่านั้น ซึ่งน้ำมันเสกนี้จะมีความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพรจากพระจิตเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการเสกขอพรของเหล่าพระสังฆราชเท่านั้น และพิธีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์แก่ชาวคริสต์เตียนนั้นสามารกระทำได้โดยบาทหลวงชาวคริสต์เตียนทุกคน มีชาวคริสต์เตียนไม่กี่คนที่เรียกพิธีศีลเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า “วันที่ห้าสิบแห่งการเสด็จลงมาสถิตของพระจิตเจ้า แก่ชาวคริสต์เตียนทุกๆคน”
อธิบายเพิ่มเติม: พิธีศีลเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้จะกระทำขึ้นบนตัวบุคลที่เป็นชาวคริสต์เตียนเพียงครั้งเดียว ในชีวิตเขาเท่านั้น
3. ศีลมหาสนิท (Eucharist)
ศีลศักดิ์สิทธิ์ในข้อนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งตรงกับคืนวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะถูกจับตัวไปตรึงไม้กางเขน คืนวันนั้นได้มีการรับประทานอาหารร่วมกับสาวกทั้ง 12 คน อันเป็นมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ในการรับประทานอาหารครั้งนี้ ขนมปัง และเหล้าองุ่นได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญแห่งพันธสัญญา ทั้งนี้เพราะในขณะรับประทานอาหารนั้น พระเยซูได้ส่งขนมปังให้กับสาวกทั้ง 12 คน พร้อมกับกล่าวว่าขนมปังนี้แทนกายของท่าน จากนั้น พระเยซูได้ส่งเหล้าองุ่นให้กับสาวกและกล่าวว่าเหล้าองุ่นนี้แทนโลหิตที่หลังออกมาเพื่อยกบาปโทษให้แก่คนทั้งหลาย เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ "ศีลมหาสนิท" และการประกอบพิธีกรรมนี้ เรียกว่า "มิสซา" อันเป็นกิจกรรมของชาวคริสต์ เพื่อร่วมสนิทกับพระเจ้าโดยการรับประทาน "พระกาย" และ "พระโลหิต" นี้ คือความหมายของ "มหาสนิท" ซึ่งแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวใน ประชาคมเดียวกันและอยู่ร่วมกันด้วยความรัก (Agape) อีกทั้งเป็นการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน
4. ศีลอภัยบาป (Penance) หรือศีลสารภาพบาป (Confession)
พิธีสารภาพบาปนี้ ได้แบบอย่างมาจากพระจริยวัตรของพระเยซูเมื่อครั้งไปรักษาโรคให้แก่คนเป็นโรคเรื้อน และคนตาบอด คนเหล่านี้เมื่อได้รับการอภัยโทษจากพระเยซูแล้วก็หายจากโรคร้ายและคนตาบอดได้กลายเป็นคนตาดี การรักษาโรคของพระเยซู ก็คือ การใช้อำนาจจิตที่เต็มไปด้วยความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่แก่คนทุกข์ยากเหล่านั้น เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่มีบาปอันกระทำไว้แล้ว จึงถูกพระเจ้าลงโทษ และพระเยซูซึ่งเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์สามารถยกบาปให้ได้เพียงกล่าวแก่คนบาปเหล่านั้นว่า "บาปของเจ้า เราได้ยกโทษให้แล้ว" นับแต่นั้นมาการสารภาพบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญยิ่ง
ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีศีลสารภาพบาปนี้อยู่ที่ ชาวคริสต์เตียนจะสารภาพ(กล่าวเปิดเผยออกมาเป็นคำพูด)ความในใจที่เป็นบาปของตัวเอง ต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยมีบาทหลวงชาวคริสต์เตียนเป็นสื่อของพระเยซูคริสต์เจ้า เป็นผู้รับบาปและให้อภัยบาปแก่คนผู้นั้น
พระเยซูคริสต์เจ้าได้ให้อำนาจในการอภัยในบาปนี้ของพระองค์แก่เหล่าพระสาวกของพระองค์ และอำนาจในการให้อภัยในบาปของพวกท่านนี้เอง ก็ได้ส่งผ่านทอดมายังเหล่าบาทหลวงชาวคริสต์เตียนในปัจจุบันนี้ “ครั้นพระองค์ตรัสดังนั้นแล้วจึงทรงระบายลมหายใจออกเหนือเขา และตรัสกับเขาว่า จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด ถ้าท่านจะให้อภัยยกความผิดบาปของผู้ใด ความผิดบาปของผู้นั้นจะถูกยกให้อภัยเสีย และถ้าท่านจะให้ความผิดบาปติดอยู่กับผู้ใด ความผิดบาปจะติดอยู่กับผู้นั้น” (ยน.20:22-23)
ยอห์นผู้ให้ศีลล้างบาป ได้ปรากฏตัวในถิ่นทุรกันดาร ท่านได้ประกาศเทศนาให้ผู้คนกลับใจเสียใหม่ และให้รับศีลล้างบาป เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปเสีย คนทั่วแคว้นยูเดียกับชาวกรุงเยรูซาเล็มได้พากันออกไปหายอห์นสารภาพความผิดบาปของตน และได้รับศีลล้างบาปจากท่านในแม่น้ำจอร์แดน ท่านได้ตระเตรียมการณ์และผู้คนต่อการรับการเสด็จมาของพระผู้ไถ่ และได้เทศนาไว้ว่า “ภายหลังเราจะมีพระองค์ผู้หนึ่งเสด็จมาทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะน้อมตัวลงแก้สายฉลองพระบาทให้พระองค์ เราให้เจ้าทั้งหลายรับศีลล้างบาปด้วยน้ำ แต่พระองค์นั้นจะให้เจ้าทั้งหลายได้รับศีลล้างบาปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มก.1:7-8)
เหล่านักบุญอัครทูตของพระเยซู ได้รับอำนาจในการอภัยบาปนี้จากพระเยซูคริสต์เจ้า และได้ประกอบพิธีศีลสารภาพบาปไป “มีหลายคนที่เชื่อแล้วได้มาสารภาพและเปิดเผยว่า เขาได้ใช้เวทมนต์” (กจก.19:18)ในการรับการยกโทษในความผิดบาป(การให้อภัยในบาป) จากการสารภาพบาปของตนนั้น จำเป็นจะต้องมีการสำนึกและให้อภัยต่อทุกๆคนที่ทำความขุ่นเคืองแก่เรา ที่ออกมาจากใจจริง มีความแน่วแน่ที่จะละจากกิเลสและตัณหาแห่งบาปจริงๆ โดยสารภาพออกมาเป็นคำพูดเกี่ยวกับบาปที่ได้กระทำหรือคิดไปนั้น มีความตั้งมั่นที่จะปรับปรุงตนและประพฤติตนดีอยู่ในพระบัญญัติและมีความเชื่อในพระเยซูเจ้า และหวังใจในพระเมตตาของพระองค์อยู่ตลอดชั่วชีวิต
ในสถานการณ์ที่พิเศษจริงๆที่ผู้สำนึกบางคนนั้นอาจจะต้องได้รับ “อีปีทิมีย่า” (คำภาษากรีกซึ่งแปลว่า การไม่อนุญาต หรือ การลงโทษทางศาสนา) ที่จะต้องแก้ตัวเองแทนบาปเพื่อไถ่โทษนั้น และจะต้องมีการประพฤติดีใน การแก้บาปเพื่อได้รับการยกโทษจากพระเจ้านั้น การแก้บาปนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบาปที่ตัวเองได้กระทำไป
อนึ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่อาจสารภาพบาปเป็นส่วนตัวได้ เช่น คนไข้ พูดไม่ได้ เครื่องบินกำลังตก เรือกำลังล่ม หรือกำลังติดอยู่ในตึกที่ไฟไหม้ บาทหลวงจะอภัยบาปให้ ทันที คนที่อยู่ในสภาพจำเป็นนี้หากมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ได้รับการอภัยบาปทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีอะไรเพิ่ม แต่ถ้ารอดชีวิตไปได้และมีโอกาสสารภาพบาปได้เมื่อใด จะต้องสารภาพทันทีกับบาทหลวงรูปใดก็ได้ทั้งนั้น
5. พิธีกรรมศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
พิธีกรรมของศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้ คือการอ่านบทภาวนาอธิษฐานต่อพระเจ้าแก่ผู้ป่วย และเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้แก่พวกเขา เพื่อเป็นการขอพรจากพระจิตเจ้าให้รักษาผู้เจ็บป่วยนี้จากทางร่างกายและทางจิตใจ
พิธีกรรมศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พิธีกรรมลงสงฆ์ เพราะว่าสำหรับการประกอบพิธีกรรมศีลเสกนี้นั้นคือการรวมพระสงฆ์แห่งคริสตจักรหลายรูปเพื่อร่วมประกอบพิธีกรรม แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆพระสงฆ์เพียงรูปเดียวก็สามารถที่จะประกอบพิธีกรรมได้
ในพิธีกรรมนี้ได้มีการประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ในสมัยเริ่มต้นช่วงเวลาของเหล่าพระสาวกของพระเยซูคริสต์ ที่พวกท่านในช่วงเวลานั้นได้รับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาคนป่วยและคนอ่อนแอจากองค์พระเยซูคริสต์เจ้า “เหล่าพระสาวกของพระเยซูคริสต์เจ้าก็ได้ออกไปเทศนาประกาศเกี่ยวกับพระธรรมวจนะของพระเยซูคริสต์เจ้า และถึงการกลับใจเสียใหม่ และเขาได้ขับผีให้ออกเสียหลายผี และได้เอาน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เจิมทาคนเจ็บป่วยหลายคนให้หายโรค” (มก. 6:12-13)
ในทางลักษณะเดียวกันนี้ที่ท่านอัครทูตยากอบได้กล่าวไว้คล้ายๆกันว่า “มีผู้ใดในพวกท่านเจ็บป่วยหรือ จงให้ผู้นั้นเชิญบรรดาสงฆ์แห่งคริสตจักรมา และให้ท่านเหล่านั้นสวดอธิษฐานเพื่อเขา และเจิมเขาด้วยน้ำมันเสกในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า และการสวดอธิษฐานด้วยความเชื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตและองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้เขาหายโรค และถ้าเขาได้กระทำบาปพระองค์ก็จะทรงโปรดอภัยให้” (ยก. 5:14-15)
เหล่านักบุญอัครทูตไม่มีสักครั้งเดียวที่พวกท่านประกาศเทศนาคำสอนที่มาจากตัวเอง ทุกๆคำสอนที่พวกท่านเทศนาสั่งสอนนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับการสั่งสอนมาจากองค์พระเยซูคริสต์เจ้าและจากพระสุรเสียงของพระจิตเจ้าเท่านั้น ท่านอัครทูตเปาโลได้กล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทราบว่า ข่าวประเสริฐที่ข้าพเจ้าได้ประกาศไปแล้วนั้นไม่ใช่ของมนุษย์ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ได้รับข่าวประเสริฐนั้นจากมนุษย์ไม่มีมนุษย์คนใดสอนข้าพเจ้าแต่ข้าพเจ้าได้รับข่าวประเสริฐนั้น โดยพระเยซูคริสต์ได้ทรงสำแดงแก่ข้าพเจ้า”(กท.1:11-12)
อธิบายเพิ่มเติม: การประกอบพิธีศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะไม่กระทำกับเด็ก เพราะว่าเด็กนั้นยังไม่มีวุฒิภาวะเกี่ยวกับการกระทำบาป
6. พิธีกรรมแห่งศีลอุปสมบท
ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมศีลอุปสมบทนี้ คือการคัดเลือกบุคคลอย่างถูกต้องในตำแหน่งทางสงฆ์ เช่น ผู้หัวหน้าพระหรือบิชอป(พระสังฆราช) พระผู้ประกอบพิธีทางศาสนา(บาทหลวง) และพระผู้ช่วยประกอบพิธีทางศาสนา(เดียคอน) บุคลเหล่านี้ จะต้องผ่านพิธีอุปสมบทแต่งตั้งโดยการวางมือของหัวหน้าสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่กว่าบนศีรษะของผู้ที่ได้รับการอุปสมบทและในระหว่างนั้นจะมีการอ่านบดสวดมนตร์เพื่อเรียกขอพระพรจากพระจิตเจ้าให้ลงมาสถิตในตัวผู้นั้น เพื่อที่ผู้นั้นสามารถที่จะรับใช้ต่อการประกอบพิธีในคริสตจักรของพระเจ้าได้ต่อไปโดยมีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำทาง
พิธีการอุปสมบทนี้จะกระทำขึ้นบนตัวของบุคคลที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกมาแล้ว หรือว่าผู้ที่ได้รับการอุปสมบทมาแล้วจากทางคริสตจักร และได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นทางสงฆ์ ก็จะมีการประกอบพิธีอุปสมบทเลื่อนขั้นของทางคริสตจักรได้อีก ในลำดับขั้นของตำแหน่งสงฆ์หลักๆแล้วมีด้วยกันสามลำดับขั้นคือ พระผู้ช่วยในการประกอบพิธี(เดียคอน) พระผู้ประกอบพิธี (บาทหลวง) และหัวหน้าพระหรือบิชอป(พระสังฆราช)
ในการประกอบพิธีอุปสมบทแต่งตั้งเป็นพระผู้ช่วยนั้น คือการให้ได้รับพระพรจากพระจิตเจ้าให้สามารถเป็นพระผู้ช่วยในพิธีกรรมทางศาสนาของคริสตจักรต่อไป
ในการประกอบพิธีกรรมอุปสมบทวางมือบนศีรษะแต่งตั้งเป็นพระผู้ประกอบพิธีทางศาสนานั้น คือการให้ได้รับพระพรจากพระจิตเจ้า ให้สามารถเป็นพระ(บาทหลวง)ในการประกอบพิธีทางศาสนาของคริสตจักรได้ต่อไป ทั้งนี้ตัวของผู้เข้ารับการอุปสมบทเป็นบาทหลวงนั้นจะต้องผ่านการอุปสมบทเป็นพระผู้ช่วยมาก่อน
ในการประกอบพิธีกรรมแต่งตั้งสังฆราช(บิชอป) ผู้ที่ได้ผ่านพิธีกรรมแต่งตั้งเป็นสังฆราชนี้คือผู้ที่ได้รับการวางมือบนศีรษะจากสังฆราชราชชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่สามท่านขึ้นไปเป็นอย่างน้อย เพื่อสวดมนตร์ขอพรจากพระจิตเจ้าให้ลงมาสถิตกับตัวของผู้นั้น และหลังจากได้รับการแต่งตั้งแล้ว บุคคลผู้นี้สามารถที่จะประกอบพิธีกรรมอุปสมบทวางมือบนศีรษะแก่พระผู้ช่วย และพระผู้ประกอบพิธีทางศาสนาได้ต่อไป ตัวของผู้ที่ได้รับการอุปสมบทวางมือบนศีรษะแต่งตั้งเป็นสังฆราชนั้นจะต้องไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และจะต้องผ่านการบวชเป็นพระที่ถือศีลพรหมจรรย์มาก่อน
อธิบายเพิ่มเติม: ผู้ที่จะได้เข้ารับพิธีกรรมการอุปสมบทวางมือบนศีรษะนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทด้วยกันคือ
1. ผู้ที่เข้ารับการสมรสเป็นครอบครัวจากทางคริสตจักรแล้ว
2. ผู้ที่เข้ารับการบวชเป็นพระที่ถือศีลพรหมจรรย์จากทางคริสตจักรแล้ว
ในพิธีกรรมการอุปสมบทการวางมือบนศีรษะนี้เป็นการสถาปนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยนักบุญสาวกเปาโลได้เป็นพยานในการยืนยันแก่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าว่า “ของประทานของพระองค์ ก็คือให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น” (อฟ.4:11-12)
เหล่าพระสาวกขององค์พระเยซูคริสต์เจ้า ที่ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากพระจิตเจ้า ได้ประกอบพิธีอุปสมบทนี้แก่พระผู้ช่วยประกอบพิธี พระผู้ประกอบพิธี และสังฆราช โดยการวางมือบนศีรษะของบุคคลเหล่านั้นและอ่านบทสวดมนตร์เพื่อขอพรแห่งพระจิตเจ้าลงมาสถิตกับบุคคลผู้นั้น เพื่อให้ผู้นั้นสามารถประกอบพิธีต่อพระผู้เป็นเจ้าในคริสตจักรได้ต่อไป
เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ที่จะมารับการอุปสมบทวางมือบนศีรษะนี้ นักบุญสาวกผู้แรกที่ได้รับการอุปสมบทวางมือบนศีรษะนั้น ได้กล่าวไว้ในหนังสือของ กิจการของอัครทูตว่า “คนทั้งเจ็ดนี้เขาให้มายืนต่อหน้าพวกอัครทูตแล้วพวกอัครทูตก็อธิษฐานต่อพระเจ้าและวางมือบนศีรษะของพวกเขา” (กจ.6:6)
เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมอุปสมบทวางมือบนศีรษะแต่งตั้งพระผู้ประกอบพิธีในคริสตจักรนั้นมีการกล่าวไว้ว่า “ท่านทั้งสอง(ท่านทูตเปาโลและท่านทูตวารนาวา)ได้เลือกตั้งผู้ปกครองสาวกไว้ในทุกคริสตจักร ได้อธิษฐานและถืออดอาหารฝากสาวกไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้า ที่เขาเชื่อถือนั้น” (กจ.14:23)
ในจดหมายของท่านเปาโลซึ่งมีไปถึงคริสตจักร แห่ง ทิโมธี และคริสตจักร ทิตัส นั้น ท่านทูตเปาโลได้ย้ำเตือนแก่สังฆราชไว้ว่า “อันของประทานซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในท่านโดยที่ข้าพเจ้าได้เอามือวางบนท่านนั้น ขอเตือนว่าท่านจงกระทำให้รุ่งเรืองขึ้น” (2 ทธ. 1:6) “เหตุที่ข้าพเจ้าได้แต่งตั้งท่านไว้(หัวหน้าผู้ปกครองสงฆ์) ที่เกาะครีตก็เพื่อที่ท่านจะได้แก้ไขสิ่งที่ยังบกพร่องให้เรียบร้อย และแต่งตั้งสงฆ์ไว้ทุกเมือง ดังที่ข้าพเจ้าได้กำชับท่านไว้” (ทต.1:5) จดหมายที่มีไปยังทิโมธีนั้น ท่านทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “อย่าด่วนอุปสมบทวางมือบนผู้ใด และอย่ามีส่วนร่วมในการกระทำบาปเลย จงรักษาตัวให้บริสุทธิ์” (1 ทธ.5:22) “อย่ายอมรับคำกล่าวหาของสงฆ์ผู้ปกครองคนใด เว้นเสียแต่จะมีพยานสองสามคน” (1 ทธ. 5:19)
จากการส่งบันทึกข้อความจดหมายถึงแต่ละคริสตจักรนั้นเราจะเห็นได้ว่า เหล่าพระสาวกนั้นได้ให้อำนาจ ในการประกอบพิธีอุปสมบทการวางมือแต่งตั้งสงฆ์แก่หัวหน้าสงฆ์(สังฆราช)แต่ละคริสตจักร และสังฆราชในคริสตจักรนั้นสามารถพิจารณาไต่สวนความผิดต่อสงฆ์ในปกครองของคริสตจักของตนเองได้
เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสงฆ์ท่านอัครทูตเปาโลได้เขียนไว้ในจดหมายที่ส่งไปถึง ทิโมธี ว่า “ผู้นำปกครองดูแลสงฆ์นั้นต้องเป็นคนที่ไม่มีใครติได้ เป็นสามีของหญิงคนเดียว เป็นคนรู้จักประมาณตน มีสติสัมปชัญญะ เป็นคนสง่าเรียบร้อย มีอัชฌาสัยรับแขกดี เหมาะที่จะเป็นครู ไม่ดื่มสุรามึนเมา ไม่เป็นนักเลงหัวไม้ แต่เป็นคนสุภาพ ไม่เป็นคนชอบวิวาท ไม่เป็นคนเห็นแก่เงิน ต้องเป็นคนครอบครองบ้านเรือนของตนได้ดี อบรมบุตรธิดาของตนให้อยู่ในโอวาทและมีใจอ่อนน้อม เพราะว่าถ้าชายคนใดไม่รู้จักครอบครองบ้านเรือนของตน คนนั้นจะดูแลคริสตจักรของพระเจ้าอย่างไรได้ อย่าให้ผู้ที่กลับใจใหม่ๆ เป็นผู้ปกครองดูแลเกรงว่าเขาอาจจะยโส แล้วจะถูกปรับโทษเหมือนอย่างมารนั้น นอกนั้นเขาจะต้องเป็นที่นับถือของคนภายนอก มิฉะนั้นจะเป็นที่ติเตียนและจะติดบ่วงแร้วของมาร ฝ่ายมัคนายกนั้นก็เช่นเดียวกัน คือต้องเป็นคนเอาการเอางาน ไม่เป็นคนสองลิ้น ไม่ดื่มสุรามึนเมา ไม่เป็นคนโลภมักได้ และเป็นคนยึดมั่นในข้อล้ำลึกแห่งความเชื่อ ด้วยจิสำนึกว่าตนชอบ” (1 ทธ. 3:2-9)
7. พิธีกรรมแห่งศีลมงคลสมรส
พิธีกรรมศีลมงคลสมรสในศาสนาคริสต์เตียนออร์โธด็อกซ์ดั้งเดิมนั้น คือการให้คำมั่นสัญญาของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่อพระเจ้าว่าจะอยู่ร่วมสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวด้วยความซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน โดยความสัมพันธ์ของคู่สมรสนี้เปรียบได้กับความสัมพันธ์ของพระคริสต์เจ้าที่มีต่อศาสนจักรของพระองค์ และการครองคู่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยานี้ นี่เองที่ทั้งสองฝ่าย มีความใฝ่ประสงค์ขอต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อที่พระองค์จะอำนวยพระพรของพระองค์ให้แก่ชีวิตครอบครัว และการกำเนิดใหม่และการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นชาวคริสต์เตียนที่ดีในภายภาคหน้า
พิธีสมรสนี้ได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าเองเมื่อครั้งเวลาบนสรวงสวรรค์ ที่พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์ผู้แรกขึ้นคือ อดัม และอีวา “พระเจ้าทรงอวยพระพรแก่มนุษย์ ทรงตรัสแก่เขาว่า จงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดินจงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ...” (ปฐก.1:28)
องค์พระเยซูคริสต์เจ้า ได้ทรงอำนวยพรของพระองค์ในพิธีมงคลสมรสด้วยการที่พระองค์เองนั้นทรงเป็นแขกในงานสมรสที่เมืองคาอันแคว้นกาลิลี และได้ทรงยืนยันต่อพิธีด้วยว่า การสถาปนาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพิธีมงคลสมรสที่ว่า “พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นและได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก.1:27) และได้ทรงตรัสอีกด้วยว่า “เหตุฉะนั้นผู้ชายจึงจากบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก.2:24) “เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้วอย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย” (มธ.19:4-6)
นักบุญอัครสาวกเปาโลได้กล่าวว่า “เพราะเหตุนี้ ผู้ชายจึงละบิดามารดาของตน ไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน ความจริงที่ฝังอยู่ในข้อนี้สำคัญ ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า หมายถึงพระคริสต์และคริสตจักร” (อฟซ.5:31-32)
ความสัมพันธ์ขององค์พระเยซูคริสต์เจ้ากับคริสตจักรนั้นมีรากฐานที่ตั้งอยู่บนความรัก ขององค์พระเยซูคริสต์ต่อคริสตจักร และในการอุทิศให้ทั้งหมดของพระเยซูคริสต์เจ้าต่อคริสตจักรของพระองค์ จากจุดนี้นี่เองที่สามีจึงต้องรักภรรยาของตนดังเป็นกายของตนเอง ส่วนภรรยานั้นก็รักสามีของตนด้วยความเต็มใจ และรักที่จะเชื่อฟังสามีด้วยเหมือนกัน
ท่านอัครทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “ฝ่ายผู้เป็นสามีทั้งหลายเอ๋ย จงรักภรรยาของตน เหมือนดังที่ พระเยซูคริสต์เจ้าได้ทรงรักคริสตจักรของพระองค์ และทรงสละพระองค์เองเพื่อคริสตจักร...เช่นนั้นแหละ สามีจึงควรจะรักภรรยาของตนเหมือนกับรักกายของตนเอง ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตนเอง” (อฟซ.5:25,28) “ ฝ่ายผู้เป็นภรรยาทั้งหลายเอ๋ย จงเชื่อฟังสามีของตนเอง และปฏิบัติหน้าที่ที่ดีของผู้เป็นภรรยา เหมือนยอมฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าสามีเป็นศีรษะของภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงเป็นพระเศียรของคริสตจักร ซึ่งเป็นดังพระกายของพระองค์และพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคริสตจักร” (อฟซ.5:22-23) ดังนั้นคู่สมรส (สามี และภรรยา) ทุกๆ คน ในตลอดชั่วชีวิต ควรจะต้องรักษาไว้ซึ่งความรัก ความซื่อสัตย์ และความนับถือ ซึ่งกันและกัน รากฐานในชีวิตครอบครัวของชาวคริสต์เตียนที่ดี และถูกต้องสมบูรณ์นั้น เป็นแหล่งกำเนิดของสังคมที่ดี รากฐานของครอบครัวที่ดีนั้นตั้งอยู่บนคริสตจักรแห่งพระเยซูเจ้าของพวกเราทุกๆ คน
พิธีกรรมของศีลมงคลสมรสนั้น ไม่จำเป็นสำหรับทุกๆคนไป แต่จะเป็นไปในลักษณะของความประสงค์ดีที่อยู่กินกันแบบนอกสมรส จึงจำเป็นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องบริสุทธิ์ และไร้ซึ่งมลทิน หรือสำหรับผู้ที่ไร้คู่ครองหรือไม่ประสงค์ที่จะมีคู่ครอง ก็ควรที่จะดำรงชีวิตอย่างถูกต้องทำนองคลองธรรมให้ได้ตลอดไป ดังที่พระวจนะของพระเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า ชีวิตอันสูส่งที่ไร้ซึ่งคู่สมรส คือการดำรงชีวิตอันเป็นชัยชนะในพรหมจรรย์ต่อพระเจ้า ท่านทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “เรื่องคนโสดนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้รับพระบัญชาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ขอออกความเห็น ในฐานที่เป็นผู้ได้รับพระกรุณาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็นผู้ที่ไว้ใจได้ เพราะเหตุความยากลำบากที่จะมาถึงอยู่ในเวลานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ทุกคนควรจะอยู่อย่างที่เขาเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านมีภรรยาแล้วหรืออย่าหาช่องที่จะทิ้งภรรยาเลย ท่านเป็นคนตัวเปล่าหรือ อย่าหาภรรยาเลย ถ้าท่านจะแต่งงานก็ไม่มีความผิดและถ้าหญิงสาวพรหมจารีจะแต่งงานก็ไม่มีความผิด แต่คนที่แต่งงานนั้นจะต้องยุ่งยากลำบากใจ แต่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ท่านพ้นจากความยุ่งยากนั้น พี่น้องทั้งหลายข้าพเจ้าหมายความว่า ยุคนี้ก็สั้นมากแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้คนเหล่านั้นที่มีภรรยาดำเนินชีวิต เหมือนกับไม่มีภรรยา และให้คนที่เศร้าโศกดำเนินชีวิตเหมือนกับมิได้ชื่นชมยินดี และผู้ที่ซื้อก็ให้ดำเนินชีวิต เหมือนกับว่าเขาไม่มีกรรมสิทธิ์เหนืออะไรเลย และคนที่ใช้ของโลกนี้ให้ดำเนินชีวิต เหมือนกับมิได้ใช้อย่างเต็มที่เลยเพราะระบบของโลกนี้กำลังล่วงไป ข้าพเจ้าอยากให้ท่านพ้นจากความสาละวนวุ่นวาย ฝายคนที่ไม่มีภรรยาก็สาละวนในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะทำสิ่งซึ่งเป็นที่พอพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่คนที่มีภรรยาแล้วก็สาละวนในงานของโลกนี้ เพื่อจะทำสิ่งที่พอใจของภรรยา เป็นการสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายหญิงซึ่งไม่มีสามี และสาวพรหมจารีนั้น ก็สาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งกายและจิตใจ แต่หญิงที่มีสามีแล้วก็สาละวนในการงานของโลกนี้ เพื่อจะทำสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจของสามี ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ก็เพื่อที่จะให้ท่านได้เข้าใจ และเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเอง มิใช่จะเอาบ่วงบาศคล้องท่านแต่เพื่อความเป็นระเบียบ ขอให้ท่านปฏิบัติต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากใจสองฝักสองฝ่าย แต่ถ้าชายใดที่มีคู่มั่นเป็นสาวพรหมจารี และรู้สึกว่าตนจะปฏิบัติต่อคู่มั่นอย่างสมควรไม่ได้ มีความรักร้อนแรง และต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้เขาทำตามปรารถนา คือให้เขาแต่งงานเสีย ไม่มีความผิดอันใด แต่ถ้าชายใดตั้งใจแน่วแน่ และเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และเขาสามารถบังคับใจตัวเองได้และตั้งใจว่าจะให้หญิงนั้นเป็นคู่มั่นต่อไป เขาก็กระทำดีแล้วเหตุฉะนั้นคนใดที่แต่งงานกับคู่มั่นของตนก็ทำดีอยู่ แต่ผู้ที่ไม่แต่งงานก็ทำดีกว่า ตราบใดที่สามียังมีชีวิตอยู่ ภรรยาก็ต้องอยู่กับสามี ถ้าสามีตายนางก็เป็นอิสระจะแต่งงานกับชายใดก็ได้ตามใจ แต่ต้องแต่งงานกับผู้ที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้านางอยู่คนเดียวจะเป็นสุขกว่า”(คร.7:25-40, มธ.19:11-12)
พิธีกรรมและแนวความเชื่อของนิกายออร์โธด็อกซ์
1. การรับศีลล้างบาปของนิกายออร์โธด็อกซ์ยังคงกระทำกับทารกโดยมีพ่อแม่อุปถัมภ์ และใช้วิธีการปะพรมน้ำ
2. การรับศีลมหาสนิทของนิกายออร์โธด็อกซ์ใช้ขนมปังและเหล้าไวน์ ส่วนนิกายคาทอลิคให้แต่ขนมปังอย่างเดียว ส่วนเหล้าไวน์นั้นบาทหลวงผู้ทำพิธีเท่านั้นที่ได้ดื่ม และระยะเวลาของการทำพิธีศีลมหาสนิทของนิกายออร์โธด็อกซ์ก็ใช้เวลาที่ยาวนานกว่ากัน
3. นิกายออร์โธด็อกซ์ยอมให้ผู้ที่จะเข้ารับการแต่งตั้งเป็นผู้ประกอบพิธีในศาสนกิจได้นั้นสามารถแต่งงานได้ก่อนบวช
4. นักปรัชญาและนักคิดของทางตะวันออก มีอิทธิพลต่อนิกายออร์โธด็อกซ์ เน้นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสต์คำตรัสเทศนาและความเป็นมนุษย์ของพระองค์
5. นิกายออร์โธด็อกซ์ปฏิเสธการสลักรูปปั้นของพระเจ้าและพระแม่มารี เราจะพบว่าโบสถ์ของนิกายออร์โธด็อกซ์มีภาพเขียนฝาฝนังรูปพระเจ้า แม่พระและนักบุญ แต่ไม่มีการสลักเป็นรูปปั้นเลย
6. นิกายออร์โธด็อกซ์ส่งเสริมชีวิตประชาชนให้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย โดยเฉพาะนักบวชนั้นต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความอดทน กล้าหาญ ไม่อาลัยในความสุข ละความรักแบบโลก ๆ แต่เคร่งครัดศรัทธาในศาสนาอย่างจริงจัง นักบวชคริสต์เตียนออร์โธด็อกซ์หลายคนสละชีวิตทางโลกไปเป็น นักพรตถือศีลภาวนาตามถ้ำและทะเลทรายไม่น้อย
7. นิกายออร์โธด็อกซ์ใช้ภาษากรีกและถือว่าเป็นภาษาที่ต้องให้ความเคารพคล้ายกับพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับภาษาบาลี
ผู้นับถือนิกายออร์โธด็อกซ์นี้มีศรัทธาที่เหนียวแน่นในศาสนามาก เราจะเห็นได้ว่า แม้นประเทศทางแถบยุโรปตะวันออกหลายประเทศ ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และประชาชนประเทศตุรกีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ผู้นับถือนิกายออร์โธด็อกซ์หลายคนยังคงมีศรัทธาที่เหนียวแน่นและปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ไม่ถูกหลอมเหลาได้ง่ายจาก สภาพแวดล้อมจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ในบริเวณ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่น่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยผู้รุกราน
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย
คริสตศาสนาได้เข้ามาในยุคจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจที่ชอบล่าเมืองขึ้น อันเป็นการแผ่ขยายดินแดนและแสวงหาทรัพยากรให้กับประเทศของตน แต่การที่ชาติมหาอำนาจจะรุกรานไทยดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมีกองทหารที่เข้มแข็ง และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้ประเทศไทยพ้นจากความเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ
ในบรรดานักล่าอาณานิคมรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พวกโปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ หรือพวกดั๊ช โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสและสเปนนั้น นอกจากจะหาเมืองขึ้นแล้วยังนำเอาคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้ฟิลิปปินส์ และมาเก๊า ฯลฯ ยอมรับ นับถือคริสตศาสนา ต่อมาพวกฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เมืองขึ้น เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพวกโปรตุเกสและสเปน คือ ล่าเมืองขึ้นด้วยและเผยแพร่ศาสนาด้วย แต่ไม่ใคร่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทำให้อิทธิพลของคริสตศาสนาในประเทศเหล่านี้มีน้อย ส่วนประเทศไทยนั้นแม้ได้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่ต้องใช้อิสระเสรีแก่พวกตะวันตกในการเผยแพร่ศาสนาได้ทำให้ความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลง
คริสตศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณปี ค.ศ. 1584 นิกายแรกที่เข้ามาเผยแพร่ คือ นิกายโรมันคาทอลิค ซึ่งมีทั้งคณะโดมินิกัน (Dominican) คณะฟรันซิสกัน (Franciscan) และคณะเยซูอิต (Jesuit) บาทหลวงเหล่านี้ส่วนมากเป็นพวกโปรตุเกส เมื่อเผยแพร่ศาสนาไม่ใคร่สำเร็จจึงเอาใจใส่เฉพาะพวกของตน จวบจนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จรพระนารายณ์มหาราช ประเทศไทยได้มีสัมพันธภาพอันดีกับประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้พวกบาทหลวงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และมีบทบาทมากขึ้นจนถึงแก่ ตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรเพื่อผลิตนักบวชพื้นเมือง และมีการโปรดศีลบวชให้นักบวชไทยรุ่นแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาล และจัดตั้ง คณะภคิณี คณะรักไม้กางเขน
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิคกลับไม่ได้รับความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาดังที่เคยเป็นมาเพราะถูกจำกัดขอบเขต ถูกห้ามประกาศศาสนา ถูกห้ามเขียนหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาบาลี ประกอบกับเมื่อพม่าเข้ามารุกรานประเทศไทย บาทหลวงถูกย่ำยี โบสถ์ถูกทำลาย พวกสอนศาสนาทั้งหลายจึงรีบหนีออกนอกประเทศ ในสมัยนี้คนไทยกำลังเผชิญชะตากรรมกับพวกพม่า จนในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราช ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะสร้างเมือง การเผยแพร่ศาสนาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
เมื่อเปลี่ยนเป็นราชวงศ์จักรีแล้ว ชาวคริสต์ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ให้อิสระในการนับถือศาสนาและทรงประเทศพระราชกฤษฎีกาให้ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้นว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไม่ดีนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงรับรองมิสชันนารีโรมันคาทอลิกเป็นนิติบุคคล ในรัชสมัยนี้ได้เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในปี ค.ศ.1877 และได้รับพระราชทาน เงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาก็มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ และมีโรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
________________________________________
นิกายออร์โธด็อกซ์ (Orthodox)
ความเป็นมาสืบย้อนได้ถึงศตวรรษแรกในคริสตศาสนา อันเป็นช่วงระยะเวลาที่จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองอาณาจักร คือ โรมันตะวันตกมีศูนย์กลางที่กรุงโรม (Rome)ใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลาง ส่วนโรมันตะวันออกซึ่งนิยมเรียกกันว่า ไบแซนทีน (Byzantine) มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) มีสหมิตรที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน คือ เมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) อันติอ็อค (Antioch) และเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลางสื่อสาร
แม้นว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยทั่วไปเป็นของพวกเตอร์ก แต่ผู้นับถือนิกายออร์โธด็อกซ์ยังคงมีอยู่บ้าง ส่วนมากแพร่หลายในแถบยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ทำให้เกิดนิกายออร์โธด็อกซ์แบบสลาฟ (Slavic Orthodox) และนิกายออร์โธด็อกซ์แบบรัสเซีย (Russia Orthodox) ซึ่งแต่เดิมมาทั้งหมดนี้เคยเป็นแบบนิกายกรีก ออร์โธด็อกซ์ (Greek Orthodox) โดยเฉพาะที่รัสเซียนั้น ศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากอาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรโรมันแห่งที่สาม มีศูนย์กลางที่มอสโคว์ (Moscow) อย่างไรก็ตาม พอสิ้นสุดระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เข้าสู่ยุคการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ความรุ่งเรืองของศาสนาได้ลดลงไปแต่ยังไม่ถึงกับศูนย์สลาย
ปัจจุบันนี้ นิกายออร์โธด็อกซ์มีอิสระภาพในด้านความเชื่อและการปกครองของตนเอง ออร์โธด็อกซ์ส่วนมากอยู่ทางยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย โรมาเนีย ฮังการี โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย ฯลฯ
________________________________________
นิกายโปรเตสแตนด์ (Protestantism)
นิกายนี้มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและชีวิต คริสตชน โดยเรียกพวกที่ไม่ใช่คาทอลิค หรือออร์ธอด็อกซ์ว่า "โปรเตสแตนด์" (Protestant) ซึ่งแปลว่า "ประท้วง"
นิกายนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากพระศาสนจักร คาทอลิคประมาณศตวรรษที่ 14-15 โดยเริ่มจากกลุ่มใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่าง ต่อเนื่อง กลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อนิกายเล็ก ๆ ในภายหลัง กลุ่มที่เป็นตัวเคลื่อนไหวนี้มี 3 กลุ่ม คือ
1. นิกายลูเธอรัน (Luthheran)
ผู้นำคนสำคัญ คือ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1483 - 1546 เกิดที่แซกซอนมี (Saxony) ประเทศเยอรมันได้รับการศึกษาสูงจนจบปริญญาเอกและได้ศึกษาเทวศาสตร์เกิดสถาบันต่าง ๆ จากนั้นได้เข้าสู่ชีวิตนักบวชและแสวงบุญที่กรุงโรมทำให้เห็นสภาพต่าง ๆ ในศาสนจักร ต่อมาท่านได้ตีความพระคัมภีร์ไบเบิล และวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาศาสนาของยุคกลาง ความคิดเลยต่อเนื่องมาวิจารณ์พระศาสนจักรซึ่งในขณะนั้นมีการขายใบบุญกันมาก ความคิดของมาร์ติน ลูเธอร์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป ทำให้พระสันตะปาปาไม่พอพระทัย มาร์ติน ลูเธอร์ รับหมายขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร (excommunication) ในปี ค.ศ. 1521 ตรงจุดนี้ได้นำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายใหม่ในเวลาต่อมา ชีวิตของลูเธอร์ในระยะนี้ต้องหลบลี้ตลอดเวลา แต่ก็ทำให้ท่านมีเวลาแปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาเยอรมัน เพื่อให้ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักคำสอนและพิธีกรรม ซึ่งแต่เดิมมาเขียนเป็นภาษาละติน จึงยากแก่การสื่อความหมายให้เข้าถึงได้ จึงรู้ได้เฉพาะปัญญาชน นักบวชและ นักศาสนาเท่านั้น ผลงานของลูเธอร์นี้ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือละตินได้มีโอกาสเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของลูเธอร์ที่ต้องการให้บุคคลสามารถ รับผิดชอบในความเชื่อของตน โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 เช่น พระหรือนักบวช กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในศาสนาเป็นเพียงสิ่งเปลือกนอกที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่บุคคลนั้นได้เผชิญหน้าต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยตนเอง นิกายนี้จึงได้ตัดประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศีลศักดิ์สิทธิ์บางเรื่องออกไปเหลือแต่ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท และสนับสนุนให้บุคคลเอาใจใส่ต่อพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความรอดส่วนบุคคลภายในโบสถ์ของโปรเตสแตนต์จึงไม่มีรูปเคารพและศิลปกรรมที่ตกแต่งดังเช่นโบสถ์คาทอลิค บนแท่นบูชามีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่มาจากตัณหาของมนุษย์ และทำให้เราเกิดความยึดถือยึดติดไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้
2. กลุ่มคริสตจักรฟื้นฟู (Reformed Christianity)
ผู้นำคนสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมากได้แก่ สวิงลี (Ulrich Zwingli) และคาลวิน
2.1 อูลริช สวิงลี (Ulrich Zwingli)
เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1848 - 1531 ได้รับแนวความคิดจากลูเธอร์ และปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) อูลริชไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพิธีล้างบาป และพิธีศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อภายนอก เท่านั้น หาใช่ความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพิธีล้างบาปก็คือการปฏิญาณตน และพิธีศีล มหาสนิทหรือมิสซาก็คือการระลึกถึงวันเลี้ยงมื้อสุดท้ายของพระเยซูเท่านั้น พิธีเหล่านี้ไม่ใช่พิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเองดังที่เชื่อกันในสมัยนั้น จนทำให้คนส่วนมากละเลยที่จะศึกษา พระวจนะ เขาได้ปรับพิธีกรรมให้เรียบง่าย และเน้นที่แก่นแท้ของคำสอน
2.2 นิกายคาลวิน (Calvinism)
ผู้ริเริ่มและบุกเบิกนิกายนี้ คือ จอห์น คาลวิน (John Calvin) หรือคาลแวงเป็นชาวฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส ต่อมาได้สนใจ แนวคิดทางศาสนาของลูเธอร์และสวิงลี จึงได้รับคำสอนเหล่านั้นมาปรับปรุง คำสอนของเขาแพร่หลายเข้าไปถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า เปรสไบทีเรียน (Presbyterian) คาลวินมีอิทธิพลในกรุงเจนีวา เขาถูกเชิญไปที่นั่นหลายครั้งจนกระทั่งได้อาศัยอยู่ที่เจนีวา จนสิ้นใจในปี ค.ศ. 1564 ผลงานที่สำคัญ คือ หนังสือศาสนาที่ต่อมาได้กลายเป็นหลักเทวศาสตร์ของโปรเตสแตนต์ ชื่อ "สถาบันทางศาสนาคริสต์" (The Institutes of the Christian Religion) แต่เดิมเขียนเป็นภาษาละตินแต่ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในเวลาต่อมา และถูกพิมพ์ถึง4 ครั้ง ในช่วงที่คาลวินมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจศรัทธาของชาวคริสต์ คำสอนของนักบุญออกัสติน (St.Augustin) อีกทั้งทำให้เราเข้าใจอำนาจของพระเจ้า เข้าใจในเรื่องบาปกำเนิด และชะตาที่ถูกลิขิตโดยพระเจ้า นอกจากนี้คาลวินได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเจนีวา และทำให้กรุงเจนีวาเป็นศูนย์นัดพบของชาวโปรเตสแตนต์ทั่วยุโรป
3. นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ (Church of England)
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แองกลิคัน" (Anglicanism) มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีสาเหตุมาจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ต้องการให้พระสันตะปาปาที่กรุงโรมอนุญาตให้หย่าร้าง และอภิเษกสมรสใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระสันตะปาปา จึงไม่พอพระทัยประกาศตั้งนิกายใหม่ที่เรียกว่า เชิร์ช ออฟอิงแลนด์ (Church of England) ไม่ขึ้นต่อกรุงโรม และทรงแต่งตั้ง โธมัส แคลนเมอร์ (Thomas Cranmer) เป็นอาร์คบิชอป (Archbishop) แห่งแคนเทอเบอรี่ (Canterbury)
นิกายต่าง ๆ ในโปรเตสแตนด์
กลุ่มฟื้นฟูศาสนาตามที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ทั้ง 3 กลุ่ม ได้ทำได้เกิดนิกายเล็ก ๆ ต่อมา ซึ่งล้วนแต่รับโครงสร้างของโปรเตสแตนต์ ในที่นี้จะกล่าวถึงบางกลุ่มและบางนิกายเท่านั้น คือ
1. นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian)
เป็นกลุ่มที่ต้องการจัดระบบการปกครองของพระเจ้าให้เป็นระเบียบแบบแผนและให้คงที่ตามหลักของลูเธอร์ โดยมีบิชอปเป็นประธาน ความเชื่อของนิกายนี้มุ่งเน้นศรัทธา เพราะถือว่าพรของพระเจ้าสามารถปลดเปลื้องทุกข์ของมนุษย์ได้ ไม่ใช่พระ พระเป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเท่านั้น
2. นิกายเมธอดิสต์ (Methodism)
เกิดขึ้นโดยจอห์น เวสลีย์ (John Wesley : ค.ศ. 1703 - 1791) เป็นชาวอังกฤษที่มีจุดประสงค์ต้องการให้ผู้นับถือพระเจ้ามีอิสระภาพมากขึ้น สามารถปฏิบัติศาสนาไปตามหลักของเหตุผลให้เหมาะแก่ชีวิตของตน
3. นิกายเซเวนเดย์ แอดเวนติสต์ (Seven Day Adventists)
เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของกลุ่มแอดแวนติสต์ นิกายนี้เน้นวันสุดท้ายของโลก และการเสด็จมาของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลกเพื่อทำนี้บริสุทธิ์อีกครั้งสมาชิกผู้นับถือมีทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น นิกายนี้ได้ส่งศาสนฑูตเข้ามาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1918 ศาสนทูตหลายท่านมีส่วนสร้างความเจริญให้แก่ประเทศไทย เช่น ตั้งโรงเรียน ตั้งสุขศาลา และโรงพยาบาล โรงพยาบาลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ โรงพยาบาลมิชชัน ที่สะพานขาว เมื่องานพยาบาลเจริญก้าวหน้าถึงกับต้องขยายเปิดโรงเรียนพยาบาล
4. นิกายเควกเกอร์ (Quaker)
หรือสมาคมมิตรภาพ (Society of Friends) เป็นนิกายที่เกิดในอังกฤษ โดยยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox : 1624 - 1691) แต่แพร่หลายในอเมริกาโดย วิลเลี่ยม เพน (William Penn : 1644-1718) โดยเฉพาะในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เป็นดินแดนแห่งแรกที่เพน ได้มาตั้งรกรากและทำการเผยแพร่ศาสนา นิกายนี้ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม จึงเน้นประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงพระเจ้าโดยใช้แสงสว่างที่เกิดขึ้นภายใน (inner light)
5. นิกายพยานพระยะโฮวา (Jehovah's Witnesses)
นิกายนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของพวกโปรแตนแตนต์ที่ต้องการปฏิรูปคำสอนให้เป็นไปในแบบเดิม โดยเฉพาะแบบอย่างในการนมัสการพระเจ้า คือ พระยะโฮวา ทั้งนี้เพราะพวกโปรเตสแตนต์ส่วนมากได้แตกกลุ่มออกไปเป็นหลายพวก เพราะความสับสนในคำสอน และความไม่ชัดแจ้งของหลักคำสอน ชาร์ล รัสเซลล์ (Charles Russell)ซึ่งเป็นชาวอเมริกันได้ริเริ่มตั้งนิกายนี้ขึ้นมาโดยเริ่มแรกมีการรวมกลุ่มกันที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย และขยายตัวออกไปทั่ว มีผู้สนใจกันมากโดยเฉพาะชนชั้นกรรมกรและคนชั้นกลางถึงกับมีการตั้งสมาคมเผยแผ่ลัทธิที่เรียกว่า "หอสังเกตการณ์" (Watch Tower) และมีการพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
6. นิกายมอร์มอน (Mormonism)
หรือศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints) ผู้ก่อตั้งคือ โจเซฟ สมิธ (Joseph Smith) ผู้เติบโตท่ามกลางบรรยากาศทางศาสนาแบบกลุ่มฟื้นฟูชีวิต (Revivalists) ในนิวยอร์ค (New York) หลักคำสอนของศาสนาเหมือนคำสอนทั่ว ๆ ไปของศาสนาคริสต์ เพียงแต่เพิ่มความเชื่อในคัมภีร์มอร์มอน (Book of Mormon) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับมาจากมอร์มอน และเชื่อกันว่าคัมภีร์นี้เป็นพระวจนะของพระเจ้าเดิมจารึกในภาษาโบราณ
พิธีกรรมของนิกายโปรเตสแตนต์
นิกายโปรเตสแตนต์ส่วนมากยอมรับศีลศักดิ์สิทธิ์เฉพาะศีลล้างบาป (Baptism) และศีลมหาสนิท (Communion) ส่วนศีลสมรสนั้นการยอมรับขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มและแต่ละนิกาย พิธีกรรมที่จัดขึ้นสำหรับการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ก็แตกต่างจากนิกายคาทอลิค แม้ในกลุ่มของโปรเตสแตนต์เองก็ยังมีความหลากหลายออกไปอีก เช่น การรับศีลล้างบาป บางกลุ่มอาจใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ในการชำระล้าง แต่บางกลุ่มอาจไม่ใช้น้ำเลยก็ได้ พิธีกรรมเหล่านี้จะถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจึงมีข้อแตกต่าง ในรายละเอียด แต่แนวคิดร่วมของการรับศีลนั้นยังคงเชื่อเหมือนกัน
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เพิ่มพิธีกรรมอื่น ๆ เข้ามาอีก สรุปได้มีดังนี้ พิธีสถาปนาศาสนาจารย์ พิธีสถาปนาผู้ปกครอง พิธีแต่งตั้งศิษยาภิบาล พิธีแต่งตั้งครูศาสนา พิธีแต่งตั้งมัคนายก พิธีมงคลสมรส พิธีปลงศพ พิธีเปิดหรือตั้งคริสตจักรใหม่ พิธีวางศิลาบ้านและอาคารต่าง ๆ พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พิธีถวายขอบคุณ (ผลหัวปีหรือสิ่งอื่น)
การเผยแพร่คริสตศานานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย
คณะเผยแพร่ของนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้เข้ามาประเทศไทย ได้แก่ พวกมิชชันนารี 2 คน คือ ศาสนาจารย์ของเนเธอร์แลนด์ มิชชันนารี (Netherland Missionary Society) คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ เอ็ม.ดี (Rev. Carl Frildrich Augustus Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ จาคอบทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษมาจากลอนดอน มิชชันนารี (London Missionary Society) มาถึงประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1828 ทั้งสองท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาด้วยความเข้มแข็ง
ต่อมาได้มีศาสนาจารย์ท่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นพวกอเมริกันบอร์ดได้เข้ามาเผยแพร่อีก ในบรรดานักเผยแพร่ศาสนานั้น ผู้เริ่มต้นสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานที่สุดระหว่างคนไทยกับศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี (Rev. Dan Beach Bradley, M.D.) ซึ่งเป็นเพรสไบทีเรียนในคณะอเมริกันบอร์ด (The American Board of Commissioners for Fcreign Missions) หรือ A.B.C.F.M ท่านได้เข้ามากรุงเทพฯ พร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 ตลอดเวลาที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้นท่านได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการรักษาพยาบาลคนไข้ไทย และคนจีนที่ป่วยด้วยโรคไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค การผ่าตัดช่วยชีวิตผู้คนในสมัยนั้น จากการระเบิดของปืนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในไทยที่ประสพผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม การทดลองปลูกฝีดาษในประเทศไทยซึ่งประสพผลสำเร็จมากทำให้คนไทยรอดตายจากโรคนี้หลายคน นอกจากนี้ยังริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์และจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่นเป็นเรื่องแรก โดยพิมพ์ทั้งหมด 9,000 ฉบับ จากนั้นได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ "บางกอกกาลันเดอร์" ซึ่งเป็นบันทึกรายวันที่ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทยที่ปรากฏเป็นเล่ม (McFarland. 1928 : 10 - 26)
นอกจากพวกสมาคมอเมริกันมิชชันนารีจะนำความเจริญมาให้ประเทศไทยควบคู่ไปกับการเผยแพร่ศาสนาแล้ว ยังมีนักเผยแพร่ศาสนากลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มอเมริกันแบพติสมิชชัน (The American Baptist Mission) ซึ่งเป็นพวกที่สร้างคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ประมาณกลางปี ค.ศ. 1837 และได้จัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งออก หนังสือพิมพ์ "สยามสมัย" (McFarland.1928 : 27-34)
กลุ่มเพรสไบทีเรียนอเมริกัน (The American Presbyterian Board) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ดร.เฮ้าส์ (Samuel R.House) ซึ่งเป็นแพทย์ผ่าตัดคนแรกในประเทศไทยที่ใช้อีเทอร์เป็นยาสลบ และเป็นแพทย์ผู้ช่วยชีวิตคนไทยจากโรคอหิวาต์ นายและนางแมตตูน (Rev. and Mrs. Stephen Mattoon) เป็นผู้ที่มีความสำคัญอีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งต่อมาโรงเรียนนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนประจำของมิชชัน และได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน (McFarland. 1928 : 35-50)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น