วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

วัดพระศรีสรรเพชญ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์ (พระนครศรีอยุธยา)
    วัดพระศรีสรรเพชญ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณ เป็นวัดพุทธาวาสที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง และเก็บอัฐิของพระมหากษัตริย์เปรียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐปูนและเจดีย์สามองค์ที่ตั้งตะหง่านเป็นจุดเด่น แต่ยังคงเป็นจุดที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามา เยี่ยมชม อยู่เสมอ และเมื่อได้ลองจินตนาการดูก็จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่ยังเป็นราชธานี


รูปภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์

ประวัติวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา
    วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง พระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ "สร้างเพื่อ เป็นวัดประจำพระราชวัง"

 

รูปภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์

    ต่อมาในปีพ.ศ. 2035รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระสถูป เจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลางเพื่อบรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐาหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2042 พระองค์โปรดให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นในปีต่อ มาพ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำ หนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310


 
รูปภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์

    พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด และองค์พระพังยับเยินรัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาประดิษฐานวัดพระเชตุพนและ บรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณเจดีย์ องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา 

รูปภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์


    ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง พระที่นั่งจอมทองตั้งอยู่ใกล้ๆ กำแพงทางด้านติดกับวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อ ให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์ ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวง แห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระยาโบราณราชธานินทร์สมุห เทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนิน การขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูปเครื่องทองมากมาย และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะ วัดนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

รายละเอียดเพิ่มเติม
- เปิดให้เข้าชม ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.
- ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3
- โทร (035) 242501, (035) 242448
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน






รูปภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์

การเดินทางไปวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา
   1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
       หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32)เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าอยุธยาตรงเข้ามาผ่านสะพานนเศวร ไปตาม ถ.โรจนะจนสุดถนนเลี้ยวขวาตรงศาลากลางเก่าไปจนถึงวงเวียน บริเวณที่ทำการตำรวจท่องเที่ยวเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 ม.จะมีทางแยกเลี้ยวขวาซึ่งจะเป็นด้านหลังวิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์จะอยู่ถัดออกไป

   2. โดยรถสาธารณะ 
       จากสถานีหมอชิตใหม่ มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน วันละ หลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา และรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-พระนครศรีอยุธยาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th หรือรถตู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต นั่งรถมาลงสุดสายจาก นั้นต่อรถมอเตอร์ไซต์หรือรถท้องถิ่น ไปยังวัดพระศรีสรรเพชรญ์

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระแก้วมรกต วัดสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์

     วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗
     เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

     รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
     เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลปไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป

พระอุโบสถ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังคาลด ๔ ระดับ ๓ ซ้อน มีช่อฟ้า ๓ ชั้น ปิดทองประดับกระจก ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคาเป็นพาไลคลุม รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจกทั้งต้น พนักระเบียงรับเสานางราย ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีอย่างจีน ตัวพระอุโบสถมีฐานปัทม์รับอีกชั้นหนึ่ง ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่ ๑ เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง รัชกาลที่ ๓ โปรดเล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป ปิดทองประดับกระจก บานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกทั้งหมด ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เชิงบันไดมีสิงห์หล่อด้วยสำริดบันไดละคู่ รวม ๑๒ ตัว โดยได้แบบมาจากเขมรคู่หนึ่ง แล้วหล่อเพิ่มอีก ๑๐ ตัว
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

     ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)
พระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซม. สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ ซม. ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน
     เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา ประดับมณีต่างๆ จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร
     เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่ พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่ง ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์พระ
     บุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น บนฐานชุกชีด้านหน้า ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยไม่มีเมฬี มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป
     หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ องค์ด้านเหนือพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ด้านใต้พระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิ์หุ้มทองคำ เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี

หนังสืออ้างอิง : นำชมกรุงรัตนโกสินทร์
(เนื่องในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) โดย กองโบราณคดี กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๕











 ข้อมูลวัด
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก ติดท้องสนามหลวง
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญ :วัดคู่กรุง, ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)
สังกัดคณะสงฆ์ :ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา (ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง)
พระประธานในพระอุโบสถ : พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง :  วัดพระแก้ว 
  พระบรมมหาราชวัง
แผนที่วัด :
ข้อมูภาษาอังกฤษ :
ข้อมูลภาพ : ภาพพระแก้วมรกต